Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รวยแล้วไม่โกงจริงๆหรือ?

รวยแล้วไม่โกงจริงหรือ?
บทความนี้โดย..ระพี สาคริก
ช่วงที่ผ่านมามีประชาชนกล่าวถึงเรื่อง “คนรวยแล้วไม่โกง” เพราะเชื่อว่ามีเงินมากพอแล้วคงไม่โลภโมโทสัน หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวว่า “ชีวิตผ่านมาถึงจุดที่พอแล้ว” แต่หลังจากเวลาผ่านพ้นมาพอสมควร คนก็เริ่มสงสัยว่าความเชื่อที่มีอยู่ในอดีตนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่ปรากฏมันสวนทางกับความจริง

ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะว่าใคร โดยที่ถือว่าใครมีนิสัยเป็นอย่างไรมันก็เป็นธรรมชาติของผู้นั้น อย่างที่กล่าวกันว่าทำดี ไม่ดีก็ได้แก่ตัวเอง แต่การนำเรื่องนี้มาเขียน เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตร่วมกับความจริงที่อยู่ในใจมาโดยตลอด มันสอนให้มองเห็นเงื่อนปมซึ่งแฝงอยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง ดังนั้นจึงมีเจตนาที่จะชี้ให้คนเห็นเหตุผลเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับความรู้มากกว่า

เนื่องจากตัวเองมีรากฐานความคิดที่อิสระ ไม่ค่อยจะยึดติดอยู่กับอะไรต่อมิอะไรจากภายนอก ดังนั้นประสบการณ์ที่ผ่านพ้นมาแล้วจึงช่วยให้มีโอกาสมองเห็นความจริงได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ถูกอิทธิพลเงินและวัตถุครอบงำภูมิปัญญา ทำให้ยึดติดอยู่กับรูปแบบซึ่งปรากฏเห็นได้จากภายนอกมากกว่าจะมองทะลุไปเห็นที่มาที่ไปของสิ่งนั้น

ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักมองความรวยความจนไปยึดติดอยู่กับเงินและรูปวัตถุ แทนที่จะมองเห็นที่มาที่ไปของชีวิตบุคคลในอดีต ว่ากว่าจะมาถึงตรงนั้นควรมีเงื่อนปมต่างๆแฝงอยู่ด้วย

ดังที่เคยกล่าวย้ำไว้เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองเห็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือเงื่อนไขที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง ซึ่งคนลืมตัวมักมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกด้านหนึ่งได้แก่ผลที่ปรากฏจากการกระทำของคน ซึ่งปรากฏเห็นได้จากภายนอก ดังนั้นหากเข้าใจถึงความจริงได้ว่าความรวยความจนไม่มีในโลก ยกเว้นไว้แต่ว่าจะเอาสถานภาพของตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นทำให้เกิดความรู้สึกริษยาเพราะเขามีมากกว่าเรา หรือหยิ่งยโสดูถูกผู้อื่นเพราะเรามีมากกว่าคนอื่น

หากเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัวเอง แม้จะมองเห็นใครมีเงินมากกว่าตัวก็ไม่นำตนไปเปรียบเทียบกับเขา อย่างที่สัจธรรมสอนไว้ว่าจงหยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเองหรืออีกนัยหนึ่งจงภูมิใจในตัวเอง สิ่งดังกล่าวตรงกับความหมายของคำว่ารู้จักพอ แต่คนเดี๋ยวนี้แม้กระทั่งในระบบการจัดการศึกษาก็มี
บรรยากาศที่หล่อหลอมให้คนแข่งขันกัน เท่ากับสร้างนิสัยให้นำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คนยุคนี้จึงมักอิจฉาตาร้อนเห็นใครดีกว่าไม่ได้ แทนที่จะส่งเสริมกันกลับคิดทำลายกัน นอกจากนั้นยังมีการสะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้ทับถมผู้อื่น จึงทำให้สังคมอยู่ไม่เป็นสุข และมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

หรืออีกนัยหนึ่งอาจสรุปได้ว่า ยิ่งรวยยิ่งโลภหนักมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองน้อยกว่าก็พยายามหาวิธีที่จะเบ่งตัวเองให้อยู่เหนือผู้อื่น ประสาอะไรกับการกล่าวว่าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่น แต่แท้จริงแล้วตัวผู้มีเงินมากนั่นแหละยิ่งสะท้อนพฤติกรรมการปฏิบัติให้ชนรุ่นหลังหรือผู้ที่ด้อยกว่าคิดฉ้อราษฎ์บังหลวงหนักมากยิ่งขึ้นกว่าเก่า เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

หากจะเชื่อว่ารวยแล้วรู้จักพอหรือยิ่งรวยยิ่งโลภ ควรมองย้อนกลับไปสู่อดีตของผู้นั้นว่ารวยขึ้นมาเพราะเหตุใดมากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับความรวยความจน ผู้มีภูมิปัญญาซึ่งหยั่งรากลงลึกซึ้งคือความจริงซึ่งอยู่ในใจตนเองเท่านั้นที่จะอ่านความจริงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน หากใครจะว่าจิตใจคนอ่านได้ยากคงไม่เสมอไป ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับบุคคลผู้อ่านจะมีภูมิปัญญาลึกซึ้งแค่ไหน หากลึกซึ้งกว่าย่อมอ่านพฤติกรรมของผู้ที่มีรากฐานจิตใจตื้นกว่าได้ถึงความจริงเสมอ

แต่บุคคลผู้มีภูมิปัญญาลึกซึ้ง ย่อมไม่ดูถูกผู้อื่น แม้จะอ่านความจริงจากใจของผู้ที่ด้อยกว่าตน หากว่ามีน้อยกว่า ย่อมมีความเมตตาสงสารมากกว่าที่จะคิดตำหนิหรือดูถูก

นอกจากนั้นบุคคลผู้มีคุณธรรมย่อมให้จิตใจแก่เพื่อนมนุษย์มาตลอดชีวิตโดยไม่คิดอยากร่ำรวยหรือสะสมทรัพย์สมบัติอะไรไว้มากมายเกินความพอดีที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย

การที่ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นย่อมดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข อีกทั้งไม่คิดที่จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายนัก อย่างที่สัจธรรมได้กล่าวไว้ว่า “จงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่”

บางคนอาจโต้แย้งว่า ถ้าพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่สังคมย่อมไม่พัฒนา การกล่าวเช่นนั้นน่าจะยังเป็นผู้ที่โลภมาก เพราะการพัฒนาสังคมหาใช่เอาความโลภเข้าไปผลักดันไม่ เนื่องจากสิ่งที่อยู่ภายนอกย่อมมีโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างอิสระอยู่แล้ว ซึ่งสังคมยุคนี้ปรารถนาเป็นอย่างยิ่งโดยที่รู้ความจริงว่าการพัฒนาที่เอาความโลภเข้าไปใส่ ในที่สุดก็พังทุกราย โดยมีเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

เพราะฉะนั้นทุกคนควรทำอย่างดีที่สุดภายในขอบเขตของตัวเอง เช่นที่กล่าวกันว่า “จงเป็นผู้รู้เขารู้เรา” ส่วนผลการพัฒนาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุผล เพราะฉะนั้นการทำอย่างดีที่สุดจึงไม่ต้องเกรงว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่พัฒนา เพราะสิ่งต่างๆ หากมีรากฐานเป็นความจริงย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตขึ้นมาได้บนพื้นฐานจิตใจที่อิสระซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาของสังคมปัจจุบัน

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ใหญ่ไปมุ่งพัฒนาที่เด็กบนพื้นฐานความทุกข์และความโลภชีวิตอนาคตของเด็กย่อมไม่เสียหาย ทั้งนี้และทั้งนั้นเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ยกความสำคัญของจิตใจเด็กไว้เหนือตนเองอยู่เสมอ หาใช่เอาแต่ความคิดตนเป็นที่ตั้งไม่ ดังนั้น การที่ผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันกับเด็กควรมีใจเย็นและอยู่อย่างพิจารณาเหตุผลมากกว่า

จึงมีความจริงที่กล่าวไว้ว่า เด็กจะเสียคนก็เพราะผู้ใหญ่ใช้อารมณ์ ความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นทฤษฎีธรรมชาติ แทนที่จะต้องไปศึกษาหาความรู้เรื่องการจัดการศึกษาจากเมืองนอก แล้วนำกลับเข้ามาอวดตัวว่าฉันเป็นผู้รู้และมีปริญญาสูงๆ ส่วนคนในสังคมก็มักนิยมคนประเภทนี้เสียด้วย เลยทำให้ยิ่งพัฒนาสังคมก็ยิ่งทรุดหนักชีวิตเด็กเลยป่นปี้มากขึ้น และสังคมของผู้ใหญ่ยุคนี้มักโทษเด็ก จึงนิยมใช้อำนาจปราบปรามมากกว่า

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า ผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหาร และจัดการบุคคลากรควรเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนสภาพจิตใจคนซึ่งเคยทำเสียหายให้กลับเป็นคนดีมีความคิดที่สร้างสรรค์ได้ แทนการเอาผิดและลงโทษ เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องง่ายเกินไปเหมาะสำหรับผู้ที่ขาดภูมิปัญญา ตามมาด้วยนิสัยมักง่าย ซึ่งคนประเภทนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะคดโกงผู้อื่นอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะบริหารงานเรื่องใดย่อมคิดที่จะคดโกงทุกรูปแบบ อย่างที่กล่าวกันว่า สังคมเผลอไม่ได้ คนประเภทนี้จะแทรกเข้าไปเอามาเป็นของตัวโกงได้ทุกรูปแบบ

คนที่ร่ำรวยเงินทองขึ้นมาบนนิสัยอย่างนี้ จะหวังให้รู้จักพอคงเป็นไปได้ยาก อย่างที่กล่าวกันว่า สันดานคนเป็นสิ่งแก้ไขได้ยากจนกว่าจะถูกสังคมลงโทษหนัก บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นสังเวยด้วยชีวิตตนเอง ก็พอมีให้เห็นกันแล้ว อย่างที่กล่าวกันว่า กรรมย่อมสนองด้วยกรรมซึ่งเกิดจากการกระทำของตัวเอง สิ่งนี้หาใช่จะบอกอนาคตไม่ได้ แต่ผู้ที่สังคมรังเกียจ หรือถูกคนในสังคมด่าว่าอยู่ทุกขณะย่อมเป็นไปได้อย่างที่มีผู้กล่าวว่า ปากคนศักดิ์สิทธิ์ ถูกแช่งชักหักกระดูกไปนานๆ มักก็เป็นไปตามนั้น ใช่ว่าคำกล่าวนี้จะเป็นเรื่องลมๆแล้งๆก็หาไม่ แต่มีเหตุและผลเชื่อมโยงถึงเงื่อนปมต่างๆ ซึ่งอยู่ในสังคม ดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าจะว่าเป็นเรื่องลึกซึ้งก็คงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่คิดได้ไม่ยาก นอกจากนั้นบุคคลผู้มีเมตตาธรรมจากใจจริง ย่อมมีใจให้แก่ผู้อื่นมาโดยตลอด ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีทรัพย์สินเงินทองไปบริจาค และเมื่อตนประสบกับภัยพิบัติย่อมไม่คิดรับบริจาคจากใครมากไปกว่าความรับผิดชอบในตัวเอง ซึ่งควรจะรู้สึกอดทนมากกว่า

การบริจาคช่วยเหลือภัยพิบัติของเพื่อนมนุษย์ส่วนใหญ่มักแฝงมาด้วยการเอาหน้าหรือตามกระแสสังคม มากกว่าความจริงใจ หากผู้ที่จริงใจคิดบริจาคย่อมมีเหตุผลบางคนถึงกับไม่ประสงค์ที่จะออกนาม

ในแวดวงการเมืองซึ่งไปลอกเลียนแบบมาจากฝรั่ง เพราะเราขาดการเรียนรู้ที่มาที่ไปของเขามากกว่า จึงไปฉกฉวยปลายเหตุจากเขามาโดยปราศจากการรู้เท่าทัน ทั้งนี้และทั้งนั้นเพราะเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเขา และคิดว่าเขาดีกว่าเรา แทนที่จะหยิ่งในตัวเองว่าเรามีพื้นฐานที่มาเป็นของเราเอง น่าจะรู้สึกภูมิใจและคิดว่าของเราก็คือของเรา เมื่อใดนำความเจริญพื้นฐานในด้านวัตถุหรือรูปแบบไปเปรียบเทียบกับเขาดังที่ได้ยินเสมอๆว่า ถ้าไม่ตามโลกให้ทันก็จะสู้เขาไม่ได้ ดังนั้น การจะวางตัวเป็นกลางหรือเดินสายกลางก็คงยาก

หากเอาตัวเองไปเป็นทาสฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองจนกระทั่งมุ่งไปสู่ภาวะล่มสลายในที่สุด

ดังนั้นผู้เขียนจึงเคยนำเอาเรื่องนี้มาพิจารณาและเขียนไว้ภายใต้หัวข้อความจนความรวยไม่มีในโลกแห่งความจริง ซึ่งในเนื้อหาสาระข้อเขียนเรื่องนี้ได้ชี้แจงเหตุผลไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ผู้ที่มีความเป็นคนโดยสมบูรณ์ครบถ้วน ควรหยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเองมากกว่า แต่คนในสังคมไทยยุคนี้มักรู้สึกว่า การได้อามิสและเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งตนมีโอกาสใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพ หรือมีอำนาจข่มผู้อื่นได้มากเท่าใดก็ยิ่งภูมิใจมากเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีการแสดงความภูมิใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น เลี้ยงฉลองแสดงความยินดีในการได้ตำแหน่งลาภยศสรรเสริญ ซึ่งคนประเภทนี้อ่านได้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งผู้ที่ได้รับอามิสก็ยินดีที่คนมาชื่นชม ส่วนด้านที่มายินดีก็เท่ากับดันหลังให้คนซึ่งตนคิดว่าควรสนับสนุน ต้องพบกับสภาวะล้มครืนและเกิดความเสียหายในอนาคตเร็วขึ้น

มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า คนดีย่อมไม่คิดร่ำรวย นอกจากนั้นการณ์จะรวยเองโดยไม่คิดร่ำรวย ก็ไม่น่าจะมีทรัพย์สมบัติอะไรมากมาย นอกจากผู้ที่ร่ำรวยมาด้วยการคิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นมากกว่า

สิ่งนี้ควรยอมรับว่า ผู้ที่ดำเนินชีวิตบนทางสายกลางมากกว่า ควรจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเอง อีกทั้งถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง เพราะทำให้ชนรุ่นหลังรู้สึกศรัทธา

ความศรัทธาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสื่อความดีความงามให้เชื่อมโยงไปถึงชนรุ่นหลังได้อย่างรู้เหตุรู้ผล นอกจากนั้นตัวผู้ปฏิบัติเอง ย่อมมีความเจริญด้วยสติปัญญาที่สูงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีรากฐานจิตใจที่สามารถหยั่งรู้ความจริงได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น การเชื่อว่าคนรวยแล้วไม่โกงจึงไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือไม่ ถ้ามีสันดานโกงย่อมโกงทั้งนั้น ทำไมจึงเอาความรวยความจนมาผูกติดกับคนโกงไม่โกง ถ้ายังเป็นคนเห็นแก่ตัวย่อมมีรากฐานจิตใจขาดอิสระภาพจึงเอาสองอย่างมาผูกติดกัน นอกจากนั้นถ้าเป็นคนโกงย่อมมีกลอุบายในการหลอกคนได้เก่ง ยิ่งคนไทยส่วนใหญ่ถูกหลอกง่าย เพราะถูกเงินและความทันสมัยของวัตถุทำลาย ย่อมมองเห็นภาวะล่มสลายของสังคมรออยู่เบื้องหน้า...
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

สมบัติของผู้ดี (Properties of the gentry)

สมบัติของผู้ดี (Properties of the gentry)
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย

กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล.
(๒) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง.
(๓) ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน.
(๔) ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล.
(๕) ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย.
(๖) ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน.
(๗) ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป.
(๘) ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ.
(๙) ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง.
(๑๐) ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด.
(๒) ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน.
(๓) ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก.
(๔) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน.
(๕) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส.
(๒) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาด ลามก จกเปรต
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ.
(๒) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง.
(๓) ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ชุมชน.
(๔) ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ชุมชน.
(๖) ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง.
(๗) ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อน ให้เป็นที่รังเกียจ.
(๘) ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค.
(๙) ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน.
(๑๐) ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้.
(๑๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ.
(๑๒) ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง.
(๑๓) ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน.
(๒) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน. มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด. ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคาราวะ.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ
กายจริยา คือ 
(๒) ย่อมนั่งด้วยกิริยาสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
(๓) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่.
(๔) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่.
(๕) ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง.
(๖) ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น.
(๗) ย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
(๘) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด.
(๙) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน.
(๑๐) ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน.
(๑๑) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน.
(๑๒) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน.
(๑๓) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง.
(๓) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา.
(๔) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน.
(๕) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ.
(๖) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์.
(๒) ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่.
(๓) ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้นและไม่ไปนั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน.
(๒) ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์.
(๔) ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง.
(๕) เมื่อไปสู่ที่ประชุมการรื่นเริงย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง.
(๖) เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก.
(๗) เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย.
(๘) ย่อมไม่ทำกิริยาบึกบึนต่อแขก.
(๙) ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนานเมื่อเขามาหา.
(๑๐) ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่.
(๑๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใด ในเวลาเฉพาะเมื่อตนอยู่ต่อหน้าผู้หนึ่ง.
(๑๒) ย่อมไม่ใช่กิริยาอันโกรธเคือง หรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก.
(๑๓) ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน.
(๑๔) ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะอันสมควร.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง.
(๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก.
(๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเกาะแกะสตรีกลางชุมชน.
(๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล.
(๖) ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ.
(๗) ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย.
(๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง.
(๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ.
(๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า 
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ.
(๒) จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม.
(๓) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงกเงิ่นหยุด ๆ ยั้ง ๆ .
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี.
(๒) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้.
(๓) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด.
(๔) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์.
(๕) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี 
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน.
(๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย.
(๓) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย.
(๔) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า.
วจีจริยา คือ
(๑) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้.
(๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา.
(๒) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน.
(๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้.
(๔) ย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย.
(๕) ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ.
(๖) ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่.
(๗) ย่อมมีมานะในการงานไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก.
(๘) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง.
(๙) ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด.
(๑๐) ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ.

สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี 
กายจริยา คือ 
(๑) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น.
(๒) เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว.
(๓) เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่เยอะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด.
(๒) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย.
(๒) ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น.
(๓) ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว 
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง ในเมื่อเขาสนทนากัน.
(๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง.
(๕) ในการเลี้ยงดูย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน.
(๖) ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป ไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน.
(๗) ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้.
(๘) ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอใจในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้.
(๙) ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทางเป็นต้น.
(๑๐) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม.
(๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน.
(๒) ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้.
(๓) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน.
(๔) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน.
(๕) ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน.
(๖) ย่อมไม่แสดงราคาของที่หยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ.
(๗) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและหลบหลู่ผู้อื่น.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่มีใจมักได้
(๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน.
(๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน.
(๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น.
(๖) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน.
(๗) ย่อมไม่มีใจริษยา.
สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง 
กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.
(๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.
(๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.
(๕) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่.
(๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ.
(๙) ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด.
(๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ.
(๑๑) ถ้าเห็นเข้าจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว.
(๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน.
(๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง.
(๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น.
(๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง.
(๗) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง.
(๘) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก.
(๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง.
(๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจแก่ผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม.
(๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง.

สมบัติของผู้ดี ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว 

กายจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน.
(๒) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง.
(๓) ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน.
(๔) ย่อมไม่หาประโยชน์ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน.
(๕) ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด.
(๖) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม.
(๗) ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนัน เพื่อจะปรารถนาทรัพย์.
(๘) ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตน ในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้.
(๙) ย่อมไม่พึงใจในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน.
วจีจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท.
(๒) ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน.
(๓) ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง.
(๕) ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้อื่น.
มโนจริยา คือ 
(๑) ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น.
(๒) ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่นด้วยประโยชน์ตน.
(๓) ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง.
(๔) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาปกรรม..
ขอขอบคุณขอมูลจาก หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่อง "สมบัติของผู้ดี" กระทรวงศึกษาธิการ
เรียบเรียบข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คุณธรรมคือ..(Virtue)

คุณธรรม (อังกฤษ: Virtue) เป็น มุมมองแง่หนึ่งของ จริยธรรม ซึ่งคำนึงถึง สิ่งที่ถูกและผิด โดยมีหลักใหญ่สามประการ ได้แก่ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแต่ล่ะบุคคล ระบบยุติธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับ วัฒนธรรม ประเพณี ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ทางสังคม และ ธรรมเนียมปฏิบัติ สภาพคุณความดี หรือคุณลักษณะที่แสดงออกของความดี ที่แสดงออกด้วยการปฏิบัติและเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป
*คุณธรรมบุคคล คือการพิจารณา และ จำแนกระหว่างสิ่งที่ถูกและผิด ตามเจตนา แรงจูงใจ หรือการกระทำ
*คุณธรรม คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกของมนุษย์ที่ตระหนักถึงความผิดชอบชั่วดี
*คุณธรรมเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงมาตรฐานทางศีลธรรม และเป็นรูปแบบของความคิดและการกระทำบนพื้นฐานของมาตรฐานทางศีลธรรม คุณธรรมอาจนับรวมในบริบทกว้างๆของค่านิยม บุคคลแต่ละคนละมีแก่นของค่านิยมภายใจที่ เป็นหลักของความเชื่อ ความคิด ความเห็น ของคนๆนั้น ความซื่อสัตย์ต่อเอง (integrity) ในแง่ของค่านิยม คือคุณธรรมที่ เชื่อมค่านิยมของคนๆนั้นเข้ากับ ความเชื่อ ความคิด ความเห็น และ การกระทำของเขา สังคมมีค่านิยมร่วมที่คนในสังคมยึดถือร่วมกัน ค่านิยมส่วนตัว โดยทั่วไปแล้ว มักจะเข้ากับค่านิยมของสังคม
คุณธรรมของบุคคล สามารถจัดได้เป็นกลุ่มต่างๆ
หรือแบ่งตามค่านิยม:
1. จริยธรรม(ดี-เลว, มีศีลธรรม-ขัดศีลธรรม-ไร้ศีลธรรม,ถูก-ผิด)
2. สุนทรียภาพ (ไม่สมดุล, พอใจ)
3. ลัทธิคำสอน (การเมือง, ศาสนา, ค่านิยมและกระแสสังคม)
4. คุณธรรมโดยกำเนิดสันดาน
5. คุณธรรมสำคัญของวัฒนธรรมตะวันตกคลาสสิก (The four classic Western Cardinal virtues) คือ: ความอดทนอดกลั้น (temperance): σωφροσύνη (sōphrosynē)
6. ความรอบคอบ (prudence): φρόνησις (phronēsis)
7. ความกล้าหาญ (courage): ἀνδρεία (andreia)
8. ความยุติธรรม (justice): δικαιοσύνη (dikaiosynē)
ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้มีที่มาจากปรัชญากรีก 
เช่น งานเขียนของ พลาโต ซึ่งอาจรวมถึงงานของโซคราติส

คุณธรรม ตามคำสอนของอริสโตเติล
อริสโตเติลนิยาม คุณธรรม ว่าคือ จุดสมดุลระหว่างความขาดและเกินของคุณลักษณะ โดยคุณธรรมสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ตรงกลางๆ แต่อยู่ที่จุดเฉลี่ยทอง ที่บางครั้งก็ใกล้ปลายหนึ่งมากกว่าอีกปลายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ความกล้าหาญ เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความขี้ขลาด กับ ความโง่เขลา ความมั่นใจ เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความน้อยเนื้อต่ำใจ กับ ความหลงตัวเอง ความโอบอ้อมอารี เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความขัดสน กับ ความฟุ้มเฟือย
อริสโตเติลเชื่อว่า การเป็นคนเป็นสิ่งประเสริญ ที่ได้มีทักษะเในการดำรงชีวิต ในการเจริญก้าวหน้า ในการมีความสัมพันธ์ที่ดี และในการแสวงหาความสุข การเรียนรู้คุณธรรมอาจจะยากตอนแรกๆ แต่มันจะง่ายขึ้นถ้าได้รับการฝึกฝนจนเป็นนิสัย

คุณธรรมตามความเชื่อของโรมัน
1. อำนาจทางจิตวิญญาณ (Auctoritas หรือ "Spiritual Authority") การมีจุดยืนทางความคิด
2. ความเป็นมิตร (Comitas หรือ "Humour") ความสุภาพ ใจกว้าง และเป็นมิตร
3. ความบากบั่นภาคเพียร (Constantia หรือ "Perseverance") ความมุมานะ พยายาม อดทน
4. ความอ่อนโยน (Clementia หรือ "Mercy")
5. ศักดิ์ศรี (Dignitas หรือ "Dignity") การมีคุณค่าแห่งตน มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
6. วินัย (Disciplina หรือ "Discipline")
7. ความมั่นคงเด็ดเดี่ยว (Firmitas หรือ "Tenacity") ความแข็งแกร่งของจิตใจที่จะยึดมั่นกับจุดมุ่งหมาย
8. ความประหยัดมัธยัสถ์ (Frugalitas หรือ "Frugality")
9. ความรับผิดชอบ (Gravitas หรือ "Gravity") การรู้ถึงความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย
10. ความน่านับถือ (Honestas หรือ "Respectability")
11. การรู้จักมารยาทธรรมเนียม (Humanitas หรือ "Humanity")
12. การขยันทำงานหนัก (Industria หรือ "Industriousness")
13. การมีความยุติธรรม (Iustitia หรือ "Justice")
14. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Pietas หรือ "Dutifulness")
15. ความรอบคอบ (Prudentia หรือ "Prudence")
16. การรักษาสุขภาพและความสะอาด (Salubritas หรือ "Wholesomeness")
17. การควบคุมตัวเอง (Severitas หรือ "Sternness")
18. ความซื่อสัตย์ (Veritas หรือ "Truthfulness")
19. ความเป็นลูกผู้ชาย (Virtus หรือ "Manliness") ความองอาจ กล้าหาญ

คุณธรรม ตามศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์ ถือว่า ความศรัทธา (faith), ความหวัง (hope), และ ความรัก (love) คือ คุณธรรม โดยคุณธรรมทั้งสามนี้มาจาก 1 Corinthians 13:13 (νυνι δε μενει πιστις ελπις αγαπη τα τρια ταυτα μειζων δε τουτων η αγαπη (pistis, elpis, agape)).

คุณธรรม ตามความเชื่อของมุสลิม
โดยทั่วไปแล้ว มุสลิมเชื่อว่า อัลกุรอาน เป็นแหล่งรวบรวมคุณธรรมทั้งหมดไว้ อิสลามโดยชื่อแล้ว หมายถึง การยอม ซึ่งคือ การยอมรับประสงค์ของอัลลอฮ์ การยอมรับสิ่งต่างๆในแบบที่มันเป็น คุณธรรมที่เด่นที่สุดคือ ความกรุณา และ ความเมตตา โดยแต่บทของทั้ง 114 บทใน อัลกุรอาน
(โดยยกเว้น แค่บทเดียว) เริ่มต้นด้วย "In the name of God the Compassionate, the Merciful".
คุณธรรม ตามความเชื่อของมุสลิม: การสวดมนต์, การสำนึกบาป, ความซื่อสัตย์, ความจงรักภักดี, ความจริงใจ, การประหยัด, ความรอบคอบ, ความรู้จักประมาณ, การควบคุมตัวเอง, วินัย, ความพากเพียร, ความอดทน, ความหวัง, ศักดิ์ศรี, ความกล้าหาญ, ความยุติธรรม, ความใจกว้าง (tolerance), ปัญญา, การพูดดี, ความเคารพ, ความบริสุทธิ์, ความสุภาพ, ความใจดี, ความรู้คุณ, ความโอบอ้อมอารีย์, ความพอใจ
คุณธรรม ตามศาสนาฮินดู
1. การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น (Altruism): การบำเพ็ญประโยชน์กับมนุษยชาติอย่างไม่เห็นแก่ตัว
2. การควบคุมตัวเอง (Self Control) และการรู้จักพอประมาณ (Moderation): การรู้จักควบคุมตัวเองและพอประมาณในทุกๆสิ่ง ความสัมพันธ์ทางเพศ อาหาร กิจกรรมบันเทิงต่างๆ
3. ความซื่อสัตย์ (Honesty): การซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน ต่อมนุษยชาติ
4. ความสะอาด (Cleanliness): ความสะอาดภายนอกคือการรักษาสุขภาพและสุขลักษณะที่ดี ความสะอาดภายในคือการบูชาพระเจ้า ความไม่เห็นแก่ตัว อหิงสา การละเว้นจากของมึนเมาต่างๆ
5. การปกป้องและเคารพต่อโลก (Protection and reverence for the Earth)
6. การใจกว้าง (Universality): การเป็นคนใจกว้างและเคารพทุกๆคน ทุกๆสิ่ง และวิถีของเอกภพ
7. การมีสันติภาพ (Peace): การฝึกนิสัยให้มีกริยาที่สงบสันติเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลรอบข้าง
8. การไม่ใช้ความรุนแรง/อหิงสา (Non-Violence/Ahimsa): การไม่ฆ่าหรือการทำรุนแรงกับสิ่งมีชีวิตใดๆไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
9. การให้ความเคารพคนชราและครูอาจารย์ (Reverence for elders and teachers)

คุณธรรม ตามศาสนาพุทธ
พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามแนวทางของมรรค ๘ ซึ่งอาจนับเป็นรายการจำแนกคุณธรรม ดังนี้
1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง เห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา เข้าใจอริยสัจ 4
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

จริยธรรมคืออะไร..

จริยธรรม(Ethics)
จริยธรรม หรือ จริยศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาหลักของ วิชาปรัชญา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความดีงามทางสังคมมนุษย์ จำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว จริยธรรม หมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว มาจากคำ 2 คำคือ จริย กับธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ

ความหมายตามพจนานุกรมในภาษาไทย จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ศีลธรรมอันดี ตามธรรมเนียมยุโรป อาจเรียก จริยธรรมว่า Moral philosophy (หลักจริยธรรม) จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม

จริยธรรม (Ethics)
คำว่า "จริยธรรม" แยกออกเป็น จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายประการ เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น "จริยธรรม" จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า "หลักแห่งความประพฤติ" หรือ "แนวทางของการประพฤติ"

จริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ มีที่มาจากบทบัญญัติหรือคำสั่งสอนของศาสนา หรือใครก็ได้ที่เป็นผู้มีจริยธรรม และได้รับความเคารพนับถือมาแล้ว
ลักษณะของผู้มีจริยธรรม ผู้มีจริยธรรมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
๑. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
๒. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
๓. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
๔. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
๕. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใด ๆ ได้
จริยธรรมคืออะไร
เรื่องจริยธรรมนั้นมีนักปราชญ์ให้ความหมายเอาไว้มาก  แนวคิดของแต่ละท่านมีทั้งเหมือนกัน คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน  ถือว่าเป็นเรื่องนานาทัศนะ  เพราะจริยธรรมเป็นการตีกรอบความประพฤติให้คนในสังคมได้แนวทางปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะและอาจกล่าวได้ว่า
จริยธรรมคือเครื่องประดับของบุคคลในสังคมนั้น ๆ เพราะเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่โดดเด่นให้เห็นได้ชัดเจน
คำว่า  จริยธรรม  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. 2525  ได้ให้ความหมายดังต่อไปนี้  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  ศีลธรรม  กฎศีลธรรม  (ราชบัณฑิตยสถาน. 2539: 216 )

จริยธรรม ( Ethical  Rules ) คือประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติ
 ( กีรติ  บุญเจือ . 2538 : 4 )
จริยธรรมหมายถึงธรรมชาติหรือหลักธรรมที่บุคคลควรประพฤติ  จัดว่าเป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง  อันเป็นสิ่งที่ประสงค์ของสังคมและจริยธรรมจะมีได้จำต้องอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา  อันได้แก่  ศีล ( Precept ) อันหมายถึงหลักหรือกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติเพื่อดัดหรือฝึกหัดกายและวาจาให้เรียบร้อย  ให้เป็นปกติ

กล่าวคือ  จะพูดหรือทำสิ่งใดให้เป็นไปตามธรรมชาติ  อย่าให้ผิดปกติ
( ผิดศีล ) เช่น  พูดให้ถูกต้องให้เป็นธรรม  กระทำให้ถูกต้องให้เป็นธรรม  เมื่อพูดหรือกระทำให้ถูกต้องและเป็นธรรม  ย่อมมีความสุข ความสบาย  เยือกเย็น  ไม่เดือดร้อนดังกล่าว จึงเป็นผลของการมีศีลหรือเป็นผลของการมีคุณธรรมในจิตใจ  เมื่อมีคุณธรรมในจิตใจแล้วก็เป็นเหตุให้ประพฤติจริยธรรมได้ถูกต้อง  ดังนั้นคุณธรรมและศีลจึงเป็นโครงสร้างของจริยธรรม
( บุญมี  แท่นแก้ว. 2541 : 1 )


จริยธรรม  คือ  กิริยามารยาทการประพฤติปฏิบัติที่สังคมปรารถนา  เป็นแนวทางเพื่อบรรลุสภาพชีวิตที่ดีงามทั้งทางกาย  วาจา  ใจ ( ทำ  พูด  คิด ) เป็นไปในทางที่ดีและละเว้นสิ่งที่ผิดต่อปทัสถานของสังคม ( social  Norm ) (  พิภพ  วชังเงิน. 2546 : 4 )

จริยธรรม คือ  กฎเกณฑ์ความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติ  โดยได้จากหลักการทางศีลธรรม  หลักปรัชญา  วัฒนธรรม  กฎหมายหรือจารีตประเพณี  เพื่อเสริมสร้างมนุษย์สมบัติที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์โดยธรรมชาติ  เพื่อประโยชน์สุข
แก่ตนเองและสังคม  นอกจากนี้จริยธรรมยังใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจเลือก
ความประพฤติ  การกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย
(  มัญชุภา  ว่องวีระ.2541 : 6 )

กล่าวโดยสรุปแล้ว  คำว่า  จริยธรรมมาจากรากศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต  ดังนี้  จริยะ  หมายถึง ความประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากการกระทำทางกาย  วาจาและใจ
ธรรมะ  หมายถึง  คำสั่งสอนในทางศาสนาที่มนุษย์นำมาเป็นสื่ออุปกรณ์  เพื่อข้ามไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ถูกต้องดีงาม
ดังนั้นจริยธรรม  หมายถึง  การปฏิบัติตนตามคำสอนในทางศาสนาเพื่อความถูกต้องดีงามของชีวิต..
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิธีอ่านใจและวิเคราะห์จิตใจคน(How to read minds-Analyze the minds of people)

How to read minds-Analyze the minds 
of people.
วิธีอ่านใจและวิเคราะห์จิตใจคน
หลักเกณฑ์พื้นฐาน 4 ประการ
1.การอ่านคนจากน้ำเสียง
2.อ่านคนจากลักษณะการพูดจา
3.หลักเกณฑ์พื้นฐาน 4 ประการ
4.คำถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพฤติกรรมที่คน ๆ นั้นแสดงเป็นของจริงหรือสร้างขึ้น ?
สังเกตจาก " ระดับความเข้มข้นของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน " ปกติคนเราอาจมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปบ้าง แต่จะไม่ต่างจากลักษณะนิสัยเดิม ๆ มากนัก แต่ถ้าเบี่ยงเบนแบบสุดกู่ แสดงว่าเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อแยกได้แล้ว ไม่ต้องสนใจพฤติกรรมที่สร้างขึ้น ให้คอยสังเกต " จุดเปลี่ยน " เพื่อที่เราจะได้เลือกพฤติกรรมที่จะแสดงออกได้อย่างเหมาะสม
1. ต้องสรุปให้ได้ว่าบุคคลผู้นั้น " คบได้ " หรือ " ไม่น่าคบ "
· ลักษณะของคนที่น่าคบ มีนิสัยที่จัดอยู่ในประเภท " คนเมตตาผู้อื่น " คือ ใจกว้าง, ยุติธรรม, ดูจริงใจ , พร้อมที่จะให้อภัยผู้อื่น เป็นต้น

· ลักษณะของคนที่ไม่น่าคบ หรือคบได้แต่ต้องระวัง คือ พวกที่ทำอะไรหวังผลประโยชน์เพื่อตัวเองฝ่ายเดียว , มีความอาฆาตต้องการลงโทษผู้อื่น เป็นต้น
ข้อสังเกต : คน ๆ หนึ่งจะเป็นได้เพียงหนึ่งลักษณะเท่านั้น คือ เมตตา หรือ ไม่เมตตา

2. มองหาจุดแตกต่าง
ต้องแยกให้ออกว่า การกระทำหรือบุคลิกลักษณะภายนอกอะไรบ้างที่ขัดแย้งกับภาพรวมทั้งหมดของคน ๆ นั้น เพราะภายใต้ความแตกต่างนั้น ย่อมมีเหตุสำคัญบางประการ และถ้าเราค้นพบที่มาของความแตกต่างนั้นได้ จะทำให้เรารู้จักคน ๆ นั้นได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้องตามความจริง
สรุป : การที่เราจะอ่านความคิดผู้อื่นได้ถูกต้องตามสถานการณ์ หรือ ณ เวลานั้น ๆ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า อะไรคือพฤติกรรมซ้ำซากแท้จริงที่ถูกหล่อหลอมจน กลายเป็น " นิสัย " ของเขา เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถอ่านความคิดของผู้อื่นได้

อ่านคนจากลักษณะการพูดจา
1. วิธีการตอบคำถาม
· นิ่ง : ผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้วนิ่งให้สงสัยไว้ก่อนว่า มีส่วนในความผิดนั้นจริง
· พูดยืดยาว : แสดงว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่รู้เรื่องนั้น

2. พูดจาหยาบคาย หรือชอบสาบานตลอดเวลา
· เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หรือตื่นเต้นตกใจง่าย
· จิตใจโหดร้าย, ชอบข่มขู่ผู้อื่น

3. มองหารูปแบบของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
พฤติกรรมซ้ำ ๆ หมายถึง รูปแบบการกระทำที่ใช้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกหรือสถานการณ์เกิดขึ้นเป็น ประจำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัย เช่น เป็นคนกระตือรือร้น หรือเฉื่อยชา , เป็นคนชอบท่องเที่ยวหรือชอบอยู่เฉย ๆ เป็นต้น
ดังนั้น เราไม่ควรสรุปผู้อื่นจาก
· พฤติกรรมในครั้งแรกที่รู้จักกัน
( First Impression )
· พฤติกรรมในทาง Negative ที่นาน ๆ เกิดครั้งหนึ่ง
4. หาพฤติกรรมที่เป็นนิสัยของเขาจริง ๆ ( เกิดขึ้นตามธรรมชาติ )ตามหลักพื้นฐาน พฤติกรรมของมนุษย์สามารถ แยกได้ 2 ประเภท คือ
1.) พฤติกรรมที่สร้างขึ้น อาจจะเพื่อบทบาทหน้าที่การงานในสังคม หรือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง เป็นต้น
2.) พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือ พฤติกรรมที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น " นิสัย " อาจมีสาเหตุจากการเลี้ยงดู หรือถูกหล่อหลอมจากสภาพสังคม เป็นต้น

5. เปลี่ยนเรื่องพูด อาจมาจากสาเหตุ ดังนี้
· เบื่อเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่
· ปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นจึงไม่อยากพูด

ข้อสังเกต : ความเกี่ยวโยงของเรื่องที่เปลี่ยน ถ้าไม่มีความเชื่อมโยงของเรื่องที่เปลี่ยนแสดงว่ากำลังปกปิดความจริง

6. คนที่เปิดเผยตัวมาก
· เขาสนในเราจึงยอมเปิดข้อมูลเยอะ หรือ
· อาจต้องการสร้างภาพ

7. คนที่ชอบพูดคำว่า "ลุย" หรือ คนที่ พูดคำว่า"เผาเลยครับๆพี่น้องใครจะเอาผิดอะไร..มาเอาที่ผมนี่..เผา ๆ"!!!!!!
· เป็นคนค่อนข้างก้าวร้าว หรือ ไมก็อาจจะเป็นคน ขี้ขลาดตาขาวเป็นนิสัย...
เรียบเรียงข้อมูลโดย musa

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มาจับโกหกจากภาษากาย

มาจับโกหกจากภาษากาย (Caught lying by body language.)
ผมนำมาจากหนังสือชื่อ The Definitive Book of Body Language เขียนโดย Allan และ Barbara Pease นะครับ หาซื้อได้จากศูนย์หนังสือจุฬาและเอเซียบุ๊คส์ครับ
เริ่มเข้าเนื้อหาเลยนะครับ ในหนังสือเล่มดังกล่าวเขาได้แนะนำเลยครับว่า มีปฏิกิริยาอยู่หลายๆ ประการที่คนมักจะแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อโกหกครับ

ประการแรก ได้แก่ การเอามือปิดปาก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว และเหมือนกับเป็นจิตใต้สำนึกที่มักจะบอกให้เรา ปิดบังในสิ่งที่เราโกหกออกไป ซึ่งการเอามือปิดปากนั้น อาจจะเป็นในหลายรูปแบบครับ เช่น ทั้งมือ หรือ บางนิ้ว หรือแม้กระทั่งการไอและเอามือปิดปาก บางครั้งการนำมือขึ้นมาปิดปาก ก็อาจจะหมายถึงการที่ผู้พูดกำลังปิดบังบางอย่างจากผู้ฟังก็ได้ครับ
ประการที่สอง คือ การนำมือแตะจมูก โดยอาจจะเป็นการเอามือมาถูหรือแตะที่จมูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่มาที่ไปของการแตะ หรือถูจมูกนั้น มีที่มาที่ไปน่าสนใจครับ นั่นคือมีงานวิจัยจาก Smell and Taste Treatment and Research Foundation ที่พบว่าเมื่อเราโกหกนั้น จะมีสารเคมีชนิดหนึ่งชื่อ Catecholamines หลั่งออกมา ทำให้ผนังหรือเนื้อเยื่อภายในจมูก มีอาการพองขึ้น ทำให้เกิดอาการระคายเคือง

นอกจากนี้ยังพบอีกนะครับว่าเมื่อคนเราโกหกโดยเจตนาแล้ว จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และส่งผลให้จมูกของเราพองขึ้นด้วยแรงดันโลหิต ทำให้รู้สึกระคายเคือง ดังนั้นการแตะหรือถูจมูก จึงเป็นสิ่งที่เรามักจะทำเพื่อลดอาการดังกล่าว
อ่านๆ ดูแล้วก็เหมือนกับ Pinocchio นะครับ ที่ยิ่งโกหก จมูกจะยิ่งโตและยาวขึ้น เพียงแต่ในความเป็นจริงแล้ว เราจะไม่สามารถเห็นปฏิกิริยาต่างๆ ข้างต้นได้ด้วยตาเปล่านะครับ ยกเว้นการเอามือขึ้นมาแตะหรือถูจมูก อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แต่การโกหกอย่างเดียวนะครับ ที่นำไปสู่การคันหรือเคืองจมูก อาการโกรธ ตื่นเต้น หรืออารมณ์เสีย ก็สามารถนำไปสู่การระคายเคืองจมูกได้เหมือนกันครับ ดังนั้นเวลาเห็นใครเอามือแตะหรือถูจมูก ก็ต้องสังเกตบริบทด้วยนะครับ

มีเรื่องเล่าด้วยครับว่า ตอนที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ให้การต่อคณะลูกขุนเรื่องของโมนิกา ลูวินสกี นั้น ได้มีนักประสาทวิทยาศึกษาปฏิกิริยาของคลินตันอย่างละเอียด และพบช่วงที่เขาโกหกนั้น จะมีการแตะจมูกทุกๆ สี่นาที และสรุปแล้วแตะจมูกทั้งหมด 26 ครั้งครับ

ประการที่สาม คือ การถูตา ซึ่งวิเคราะห์กันมาแล้วว่าเป็นปฏิกิริยาที่ผู้พูดใช้เพื่อไม่ต้องมองหน้าหรือสบตาผู้ที่เรากำลังโกหกอยู่ บางคนอาจจะไม่ใช้มือถูตา แต่จะเสมองไปทางอื่นแทนครับ

ประการที่สี่ คือ การดึงปกคอเสื้อครับ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า นอกเหนือจากการระคายเคืองบริเวณจมูกแล้ว บริเวณลำคอก็เป็นอีกจุดหนึ่งครับที่มีการระคายเคืองเมื่อเราโกหก เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น เมื่อเราโกหก ทำให้เกิดเหงื่อออกบริเวณลำคอ ดังนั้นการดึงบริเวณปกคอเสื้อจึงเป็นปฏิกิริยาหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเราโกหก

ประการที่ห้า คือ การดึงหรือจับใบหูครับ แต่มักจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ยินบางอย่างที่เราไม่เชื่อ หรือไม่เห็นด้วย หรือไม่อยากฟัง แต่เราไม่สามารถพูดออกไปได้ตรงๆ ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านกำลังสนทนาอยู่กับผู้ใด และเขาแสดงปฏิกิริยาดังกล่าว แต่ปากกลับแสดงอาการเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูดนั้น ก็อาจจะตั้งข้อสงสัยได้ครับว่าผู้ฟังนั้นเห็นด้วย หรือเชื่อในสิ่งที่เรากำลังพูดหรือไม่

นอกจากนี้การจับใบหูก็ยังมีความหมายอย่างอื่นด้วยนะครับ บางคนอาจจะใช้ปฏิกิริยาจับหูเมื่อคิดว่าตนเองฟังมาจนพอแล้ว และต้องการที่จะพูดบ้าง แต่ในบางประเทศนั้น การจับหรือดึงใบหูก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นเพศที่สามครับ (ดังนั้นระวังไว้หน่อยนะครับ)
เป็นไงบ้างครับ พอจะเป็นแนวทางเล็กๆ น้อยๆ ให้ท่านผู้อ่านในการจับโกหกบ้างได้นะครับ ทีนี้ในการจับโกหกนั้น ยังพบอีกครับว่าถ้าเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย แล้วเราจะพบว่าผู้หญิงจะจับโกหกผู้อื่นได้ดีกว่าผู้ชายครับ เนื่องจากในการสนทนากันนั้น ภาษากายคิดเป็น 60-80% ของข้อความที่ส่งออกมา และผู้หญิงจะเป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อนกว่าเพศชาย และสามารถจับสัญญาณต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างระหว่างคำพูดที่พูดออกมา กับภาษากายที่แสดงออก ได้ดีกว่า
ดังนั้นถ้าผู้หญิงจะโกหกหรือหลอกผู้ชาย จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าผู้ชายคิดจะโกหกผู้หญิงแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือทางโทรศัพท์ครับ อย่าให้เธอเห็นภาษากายของเรา

เนื้อหาไม่ได้สนับสนุนให้โกหกนะครับ เพียงแต่เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการโกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างการโกหกกับภาษากายที่แสดงออกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าใครถูจมูก หรือปิดปาก หรือดึงคอเสื้อ จะหมายความว่าบุคคลผู้นั้นกำลังโกหกเสมอไปนะครับ จะต้องดูบริบท และสภาวะแวดล้อมในขณะนั้นประกอบด้วย เช่น เขาอาจจะกำลังเป็นหวัด เป็นต้น

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Female students aged 87 years, her name is Rose.

Female students aged 87 years, her name is Rose.
===นักศึกษาหญิงวัย 87 ปี เธอชื่อ โรส===
วันเปิดเรียนวันแรกอาจารย์แนะนำตัวเอง แล้วให้เราหันไปทำความรู้จักกับเพื่อนคนอื่นในห้องที่เรายังไม่รู้จัก
 ผมลุกขึ้นยืน เพื่อมองหาคนที่จะเข้าไปทำความรู้จัก แล้วรู้สึกว่ามีมือมาแตะไหล่ผม
ผมหันไปมองและพบหญิงชราหน้าเหี่ยวย่นมองผมอยู่ พร้อมส่งรอยยิ้มที่เปล่งแสงโชติช่วงสว่างไสว
เธอพูดว่า "สวัสดี พ่อหนุ่ม ฉันชื่อ โรส ฉันอายุ 87 ปี ขอกอดเธอซักทีได้มั้ย"
ผมหัวเราะแล้วตอบอย่างเต็มเสียงว่า "ได้แน่นอนเลยครับ"โรสกอดผมอย่างเต็มแรง

ผมหยอกเธอว่า "ทำไมถึงมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในตอนที่อายุยังน้อยนิดและไร้เดียงสาอย่างนี้ล่ะครับ
"เธอตอบแกมตลกกลับมาว่า "ฉันมาที่นี่เพื่อหวังหาสามีรวยแต่งงาน และมีลูกสักสองสามคน..."
ผมพูดถามกลับไปว่า "ผมถามจริงๆ ครับ" เพราะอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เธอมาเรียนหนังสือเมื่ออายุปูนนี้แล้ว
เธอตอบว่า "ฉันฝันมาตลอดชีวิตว่าจะต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ แล้วตอนนี้ฉันก็มาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนี่แล้ว"

หลังเลิกเรียนเราเดินไปโรงอาหารแล้วซื้อมิลค์เชคมาแบ่งกันทาน เรากลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว
ตลอดเวลาสามเดือนต่อมา หลังเลิกเรียนเราจะคุยกันจ้อไม่หยุดปาก ผมจะรู้สึกอึ้งและทึ่งกับ "เครื่องจักรย้อนเวลา" คนนี้ทุกครั้งที่เธอเล่าแบ่งปันปัญญาและประสบการณ์ชีวิตให้ผมฟัง
ตลอดปีการศึกษา คุณยายโรสกลายเป็นคนดังในมหาวิทยาลัย และเธอมีเพื่อนอย่างง่ายดายในทุกที่ที่เธอไป คุณยายมักแต่งตัวดีๆ และรู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่นักศึกษาคนอื่นๆ ให้ความสนใจ เธอใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่า
ในตอนปลายภาค เราเชิญเธอให้มากล่าวปฐกถาที่งานเลี้ยงชมรมฟุตบอลของเรา ผมจะไม่มีวันลืมสิ่งที่เธอสอนเราในวันนั้นเลย
วันนั้น พอเรากล่าวแนะนำเธอ เธอก็เดินไปที่แท่นปฐกถา พอจะเริ่มพูดเธอก็ทำกระดาษโพยเล็กๆหลายใบตกพื้นเธอหงุดหงิดและออกจะเขินเล็กน้อย ชะโงกหน้าเข้าหาไมโครโฟนและพูดติดตลก
เรียบๆว่า "ฉันต้องขอโทษด้วยนะที่มือไม้สั่นไปหน่อย แม้ว่าฉันจะไม่ดื่มเบียร์แล้ว....แต่ก็ยังโดนวิสกี้เล่นงานซะงอมเลย ฉันคงเรียงกระดาษโพยกลับเข้าที่ไม่ได้แน่ งั้นก็ขอพูดสดเรื่องที่ฉันรู้ก็แล้วกันนะ
ระหว่างที่เราหัวเราะ เธอก็กระแอมไอแล้วเริ่มต้นพูดว่า
"คนเราไม่ได้เลิกเล่นสนุกเพราะเราแก่ตัวหรอก แต่เราแก่ตัวเพราะเราเลิกเล่นสนุกต่างหาก มีความลับเพียง 4 ข้อที่คนเราจะคงความหนุ่มสาว มีความสุขและประสบความสำเร็จอยู่ได้ คือ:
เราต้องหัวเราะและหาอารมณ์ขันทุกวัน
เราต้องมีความฝัน ถ้าเราสูญเสียความฝัน เราก็ตาย ทุกวันนี้มีคนมากมายที่เดินไปมาเหมือนคนที่ตายไปแล้ว โดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ตัวซะด้วย มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการมีอายุมากขึ้น กับการเจริญเติบโตขึ้น ถ้าเธออายุ 19 และได้แต่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย เมื่อหนึ่งปีผ่านไป เธอก็จะมีอายุ 20 ปีอยู่ดี ถ้าฉันอายุ 87 แล้วก็อยู่ไปวันๆ เป็นเวลาหนึ่งปีฉันก็จะมีอายุมากขึ้นหนึ่งปีเหมือนกัน ใครๆก็มีอายุมากขึ้นได้เหมือนๆกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้พรสวรรค์หรือความสามารถอะไรเลยก็ทำได้ ประเด็นสำคัญคือคนเราต้องอายุมากขึ้นพร้อมกับเติบโตขึ้น โดยต้องแสวงหาโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง จงเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องมารู้สึกเสียใจภายหลังที่ไม่ได้ทำ คนเฒ่าคนแก่มักไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปในอดีตแต่จะเสียใจกับเรื่องที่ไม่ได้ลงมือทำต่างหาก คนแก่ที่กลัวตายก็คือคนที่ยังมีความเสียใจนี้อยู่นั่นเอง"

เธอจบปฐกถาโดยร้องเพลงที่ชื่อ "The Rose" อย่างกล้าหาญ และท้าทายให้พวกเราศึกษาเนื้อเพลงและใช้ชีวิตตามเนื้อเพลงนั้นทุกๆวัน
ในที่สุดคุณยายโรสก็เรียนจบ

...และหลังจากรับปริญญาได้หนึ่งอาทิตย์ คุณยายโรสก็จากเราไปอย่างสงบในขณะที่นอนหลับสนิท

นักศึกษากว่าสองพันคนเข้าร่วมพิธีศพของเธอเพื่อคารวะผู้หญิงที่สุดวิเศษคนนี้ ที่ได้สอนเราโดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า "ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะเป็นในทุกอย่างที่เราสามารถจะเป็นได้"

(เรียบเรียงไทย:หัชพันธ์จาก Learning Petals)
หมายเหตุจากผู้เรียบเรียงไทย: มีผู้กรุณาแจ้งมาว่า รูปนี้ไม่ใช่รูปของคุณยายโรส แต่เป็นรูปคุณยาย Nola ซึ่งเป็นคุณยายที่สุดวิเศษอีกหนึ่งท่าน เพราะเข้าเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 96 ปี.....
ขอคารวะคุณยายด้วยเช่นกันครับ

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

รายการบล็อกของฉัน