Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรื่องของเจ้ากรรมนายเวร

เรื่องของเจ้ากรรมนายเวร
นเรื่องของเจ้ากรรมนายเวรนั้น นับเป็นเรื่องลี้ลับ และนับเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่เรื่องของเจ้ากรรมนายเวร ก็ย่อมเกี่ยวข้อง และเป็นความเชื่อในทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน อาจกล่าวได้เลยว่าแทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ ซึ่งทุกท่านล้วนไม่มีความเข้าใจในเรื่องของเจ้ากรรมนายเวรอย่างถ่องแท้ แม้ตัวข้าพเจ้าเอง ก็มีความเข้าใจอยู่บ้าง แม้จะไม่มากนัก ดังต่อไปนี้
อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเจ้ากรรมนายเวรก่อนว่า คืออะไรอยู่ที่ไหน มีผลอย่างไรกับตัวเรา
ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่อยากที่จะสร้างความเชื่อ ในสิ่งที่คุณหรือทุกท่าน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ถึงแม้ว่า ข้าพเจ้าจะรู้ว่า เจ้ากรรมนายเวรนั้นมีอยู่จริง และข้าพเจ้าสามารถมองเห็นเจ้ากรรมนายเวรของทุกคนที่มีอยู่ได้
(อันนี้อ่านแล้วโปรดใช้วิจารณญาณ)
(เพราะเป็นความสามารถพิเศษ อันมีติดตัวตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ )
และต้องทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายที่เข้ามาอ่านว่า ที่ตอบนี้ เป็นเพียงตอบตามคำถาม ไม่มีเจตนาที่จะให้ท่านทั้งหลายได้เชื่อว่า เจ้ากรรมนายเวร มีอยู่จริง และหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย
คือส่วนดีหรือไม่ดีกับตัวเรา
เพราะทุกท่านไม่สามารถมองเห็นเจ้ากรรมนายเวร และไม่อาจรู้ได้ว่า พฤติกรรมใด หรือความคิดใด ที่เจ้ากรรมนายเวร บันดาล หรือบังคับให้ท่านเหล่านั้น เป็นไป ตามแรงอาฆาตแค้นของเจ้ากรรมนายเวร
ข้าพเจ้าบอกตามตรงเลยว่า ข้าพเจ้าเอง แม้จะมองเห็น แต่ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือช่วยเหลือบุคคลนั้นๆให้หลุดพ้นจาก เจ้ากรรมนายเวร ยกเว้นภรรยา และลูกหลาน
เหตุเพราะ เจ้ากรรมนายเวรนั้น คือ ดวงจิตที่มีแรงอาฆาตแค้นกับบุคคลนั้นๆ และสิงสถิตแอบแฝงอยู่ ณ. หัวใจของบุคคลนั้นๆ ข้าพเจ้ามักจะมองเห็นเป็นดวงตาและใบหน้า สถิตอยู่ในหัวใจของบุคคลนั้นๆ ซึ่ง บุคคลที่มีเจ้ากรรมนายเวรสิงสถิตอยู่ มักจะเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมน้อยกว่าปกติ มีการฝึกสมาธิน้อย หรือไม่สนใจเลย ที่ข้าพเจ้ารู้ ก็เพราะว่า ถ้าบุคคลใด มีกิเลสมาก ศีลธรรมน้อย สมาธิน้อย บุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะบริเวณหัวใจจะเป็นสีดำ ผสมกับสีใสคล้ายแสงของหลอดไฟแบบไส้ทังสเตน เล็กน้อย ถ้าบุคคลใดมีศีลธรรมมาก สมาธิดี บริเวณหัวใจจะมีสีใสคล้ายแสงของหลอดไฟแบบไส้ทังสเตน มาก มีสีดำน้อย ในที่นี้ จะไม่กล่าวถึงทั่วร่างกาย

เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งเป็นดวงจิตดวงหนึ่งที่มีความอาฆาตแค้นต่อบุคคลนั้น (ข้าพเจ้าเองไม่ทราบว่า เขามีความอาฆาตแค้นอะไรกัน เพราะไม่เคยถาม รู้แต่เพียงว่า ถ้าข้าพเจ้าพยายามจะเปล่งฉัพพรรณรังสีไปให้เขา ในที่นี้หมายถึงเจ้ากรรมนายเวร เจ้ากรรมนายเวรของบุคคนั้นก็จะติดต่อสื่อสารกับข้าพเจ้าบอกกับข้าพเจ้า ประดุจการขอร้องบ้าง แบบโกรธๆบ้างว่าอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว)

เมื่อเจ้ากรรมนายเวร เป็นดวงจิตดวงหนึ่ง ในร่างกายของบุคคลนั้น ก็ย่อมมีอำนาจเหนือจิตใจ ในบางเรื่องบางอย่าง เช่นการคิด หรือพฤติกรรมที่ไม่ดี หรืออาจเป็นการคิดที่ผิดปกติ หรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำความเสียหายหรือเดือดร้อนให้กับตัวเขา ทั้งๆที่ไม่ควรหรือไม่น่าจะเกิดขึ้น
แต่ก็มีข้อยกเว้น สำหรับคนบางคน ที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ต่างๆ จนทำให้เกิดมีความคิด และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน จากบุคคลทั่วไป เช่นพวกโจรผู้ร้าย หรืออื่นๆที่ผิดกฎหมายฯลฯ

เจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ในตัวบุคคลนั้นๆ ถ้าเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา เจ้ากรรมนายเวรนั้นจะ อโหสิกรรม หรือยกโทษ หรือให้อภัยต่อบุคคลนั้นหรือไม่? อันนี้ ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่แน่ใจว่าบุคคลนั้นจะสามารถทำให้เจ้ากรรมนายเวร อโหสิกรรม หรือยกโทษหรือให้อภัยได้หรือไม่
แต่จากการอนุมานสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ประสบมา ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่า บุคคลนั้นย่อมสามารถทำให้ดวงจิตของเจ้ากรรมนายเวร หมดสภาพจากตัวเขา โดยการที่บุคคลนั้นๆ ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม เช่นการปฏิบัติ สมาธิ หรือ อื่นๆ

เพราะการปฏิบัติสมาธิ และอื่นๆ ย่อมสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติ สามารถควบคุมตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือพฤติกรรมใดใด นั่นก็หมายความว่า บุคคลนั้นๆ ก็ย่อมสามารถบังคับและควบคุมเจ้ากรรมนายเวร มิให้มีอำนาจเหนือตัวของบุคคลนั้นๆ และดวงจิตแห่งเจ้ากรรมนายเวรก็ย่อม เสื่อมสภาพไป เพราะเป็นเพียงดวงจิตที่แฝงอยู่ในตัวของบุคคล หรือสามารถกล่อมเกลาปรับเปลี่ยนให้ดวงจิตของเจ้ากรรมนายเวรนั้น ปรับสภาพให้เป็นดวงจิตของเราโดยการปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
ที่เขียนไป อาจจะอ่านแล้วเข้าใจยาก แต่ถ้าอ่านช้าช้า แล้วค่อยพิจารณา เป็นบรรทัดบรรทัดไป ก็ย่อมเกิดความเข้าใจ ฉะนี้....
บทความอ้างอิงจาก พลังจิต.คอม
เรียบเรียงใหม่โดย manman

ละลายบาปด้วยการทำบุญได้จริงหรือ

ทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่ ?
มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือการทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่?

การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่นความชั่วเกิดขึ้นในใจ เมื่อความคิดดีขึ้น ความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรียกว่าเอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว

อีกอย่างหนึ่ง ความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้ว ซึ่งจะมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้น จนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วก็ค่อยๆ จางลงจนไม่มีอนุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด(เอซิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง(อัลคอไลน์)ลงไปเรื่อยๆ กรดนั้นก็เจือจางลง หมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ

เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเกลือกับน้ำ สมมุติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถังใหญ่ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฎแม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นมีเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก"อัพโพหาริก" แปลว่า"มีเหมือนไม่มี" เรียกไม่ได้ว่ามีเหมือนไม่มี เหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือเนี้อไม้ เรารู้ได้ว่าความชื้นเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา

เอาน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงในถังใหญ่ๆ แล้วเติมน้ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่เติมเกลือ ในที่สุดน้ำก็จะไม่ปรากฎความเค็มเลยเพราะจำนวนเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การทำความดีละลายความชั่ว หรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีพุทธสุภาษิตอ้างอิงดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อยเหมือนกัน แต่บาปกรรมให้ผลเพียงในปัจจุบันชาติเท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนีย์)ไม่ปรากฎผลอีกต่อไป

บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก? คือบุคคลที่ไม่ได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก

บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ด เพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป? คือบุคคลผู้ที่ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่อยู่ด้วยคุณ มีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้

เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็กๆ น้ำนั้นย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อย แต่ถ้าใส่ก้อนเกลือลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมาก ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก(เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป(เพราะเขามีคุณมาก)ฉันนั้น"

๑.คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนในน้ำในถ้วยใบเล็กๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมาก ส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดี จึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว
บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติ มีอานุภาพในการทำลายบาป ดังพุทธภาษิตว่า

"หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออก ไม่ทำให้น้ำเข้าไปข้างใน ฉันได ผู้อบรมแล้ว ทำให้ได้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้างใน ฉันนั้น"

๒.ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาด สมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่าเป็นผู้ล้างบาปได้"

๓.ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจ และการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัวในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่าเคยมีใครคนหนึ่งเคยทำความเดือดร้อน เจ็บช้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สีกตัวรีบทำความดีต่อเรา และทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขา ให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้ว ทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากย่อมมีกำไรเสียออีก

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนคนเคยเป็นหนี้ เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้ว ยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมาย อย่างนี้เจ้าหนี้ย่อมจะพอใจเป็นอันมาก เขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ ส่วนการทำความดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้ การทำความดีจึงดีกว่าการทำความชั่ว

อีกตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า
"บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น"

นี้แสดงว่าบุคคลสามารถละลายบาปหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้

ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่ว มีกำลังใจในการทำความดีในการกลับตัว ไม่ถลำลึกลงไปในความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก

"การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสอง ก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น"

๔.รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดี แต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรงๆ เช่น อรหัตมรรค อรหัตผล สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมดและมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่าๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่างๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น

บทความนี้คัดมาจากหนังสือ "หลักกรรม และ การเวียนว่ายตายเกิด เขียนโดย วศิน อินทสระ


เรียบเรียงใหม่โดย manman

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำดี ไม่จำเป็นต้องมีไครเห็น

ทำดี ไม่จำเป็นต้องมีไครเห็น
เพราะ เพราะการทำดีมีคุณค่าในตัวมันเอง
ถึงไม่มีไครเห็นแต่ตัวคุณเห็นนิว่าคุณค่าของมันอยู่ที่ไหนมันคือทรัพสมบัติสุดท้ายของเรา
ไม่มีไครเอาไปได้

ความดีหรือบุญกุศลเปรียบเหมือนแสงไฟ
ที่ทำบุญกุศลอยู่อย่างสม่ำเสมอเพียงพอ
แม้จะเหมือนไม่ได้รับผลของความดี
และบางครั้งก็เหมือนทำดีไม่ได้ดี 
ทำดีได้ชั่วเสียด้วยซ้ำ
เช่นนี้ก็เหมือนจุดไฟในท่ามกลางแสงสว่าง
ยามกลางวัน
ย่อมไม่ได้ประโยชน์ จากแสงสว่างนั้น แต่ถ้าตกค่ำมีความมืดมาบดบังแสงสว่างนั้น
ย่อมปรากฏขจัดความมืดให้สิ้นไป
สามารถแลเห็นอะไรๆ ได้ เห็นอันตรายที่อาจมีอยู่ได้
จึงย่อมสามารถหลีกพ้นอันตรายเสียได้
ส่วนผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตน เช่นไม่มีเทียนจุดอยู่
เมื่อถึงยามกลางคืนมีความมืดมิด
ย่อมไม่อาจขจัดความมืดได้
ไม่อาจเห็นอันตรายได้
ไม่อาจหลีกพ้นอันตรายได้ ผู้ทำความดีเหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว
ไปถึงที่มืดคับขัน
ย่อมสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดี
พอสมควรกับความดีที่ทำอยู่

ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ทำความดี
ซึ่งเหมือนกับผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตัว
ขณะยังอยู่ในที่สว่าง
อยู่ในความสว่างก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน
แต่เมื่อใดตกไปอยู่ในที่มืดคือที่คับขัน
ย่อมไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างสวัสดี
ภัยอันตรายมาถึงก็ไม่รู้ไม่เห็น ไม่อาจหลีกพ้น
คนทำดีไว้เสมอกับคนไม่ทำดีแตกต่างกันเช่นนี้ประการหนึ่ง การทำดีต้องไม่มีพอ
ต้องทำให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
เพราะไม่มีใครอาจประมาณได้ว่า
เมื่อใดจะตกไปในที่มืดมิดขนาดไหน
ต้องการแสงสว่างจัดเพียงใด
ถ้าไม่ตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมายนัก
มีแสงสว่างมากไว้ก่อน ก็ไม่ขาดทุน ไม่เสียหาย แต่ถ้าตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมาย แสงสว่างน้อย
ก็จะไม่เพียงพอจะเห็นอะไรๆ ได้ถนัดชัดเจน
การมีแสงสว่างมากจะช่วยให้รอดพ้น
จากการสะดุดหกล้มลงเหวลงคู
หรือ ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายจนถึงตายถึงเป็น อานุภาพของความดีหรือบุญกุศลนั้นเป็นอัศจรรย์จริง
เชื่อไว้ดีกว่าไม่เชื่อ และเมื่อเชื่อแล้ว
ก็ให้พากันแสวงหาอานุภาพของความดี
หรือบุญกุศลให้เห็นความอัศจรรย์ด้วยตนเองเถิด...
  
หาสุขในกองทุกข์ ไม่ได้สุขก็บ่นไป หาเย็นในกองไฟ เมื่อไม่ได้ก็คร่ำครวญ
หาสิ่งที่ไม่มี ก็แปลกดีมันน่าสรวล ร่ำไห้พิไรหวล น่าหัวร่อจริงหนอเรา
  
เกิด มาแล้วบ่ายหน้า ไปไหน แก่ บอกว่าบ่ายไป สู่ม้วย
เจ็บ ว่าไม่เป็นไร เราช่วย ซ้ำนา ตาย ว่าข้าเอาด้วย ห่อนให้ ใครเหลือ
                                                                                                                                    
สุขทุกข์อยู่ ที่ใจ มิใช่หรือ     ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุกใส ถ้าไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ    เราอยากได้ ความสุข หรือทุกข์นา

อดีตกาล ผ่านไป ไม่กลับหลัง    อนาคต ก็ยัง มาไม่ถึง
ปัจจุบัน สำคัญ ควรคำนึง   ตรองให้ซึ้ง คุณความดี มีหรือยัง
  
อย่าปล่อยให้ วันวาน ที่ผ่านพ้น    ทำให้เรา ทุกข์ทน จนหม่นไหม้ มัวครุ่นคิด อาจทำผิด ซ้ำลงไป     ก็เพิ่มวัน เสียใจ ไปอีกวัน
   
คนประมาท เสียใจ เมื่อใกล้ม้วย    เนื่องด้วย ไม่ทันสร้าง ทางสวรรค์
สร้างเมื่อเจ็บ ใกล้ตาย มักไม่ทัน    พึงรีบสร้าง ทางไว้พลัน นั่นแหละดี

อย่าดูถูก บุญกรรม ว่าทำน้อย   จะไม่ต้อย ตามต้อง สนองผล เหมือนตุ่มน้ำ วางหงาย รับสายชล  ย่อมเต็มล้น ด้วยอุทก ที่ตกลง
                                                                                                    
อันความดี ทำไว้ กับใครนั้น   ไม่มีวัน ลับหาย ในภายหน้า กายอาจเลือน ลับหาย จากสายตา   ดีไม่ลา ลับหาย จากสายใจ
  
อันยศศักดิ์ ชื่อเสียง เพียงความฝัน   ฝ่ายรูปโฉม โนมพรรณ ฉันบุปผา
อันชีวิต เปรียบหมาย เหมือนสายฟ้า   อนิจจา ไม่ได้มี จีรังกาล
   
อันคืนวัน พลันดับ ลงลับล่วง    ท่านทั้งปวง อุตส่าห์สร้าง ทางกุศล แก่ลงแล้ว รำพึง ถึงตัวตน    อายุคน นั้นไม่ยืน ถึงหมื่นปี
 
วันเดือนปี ที่ผ่านไป คล้ายความฝัน    ชีวิตพลัน หมดไป น่าใจหาย
มวลญาติมิตร เงินทอง ของมากมาย   ต้องมลาย จากกัน เหมือนฝันเอย
  
ธรรมดา ของสังขาร คือการดับ   ไม่มีกลับ คืนเป็น เช่นลมหวน เป็นของจริง จงจำ อย่าคร่ำครวญ    สิ่งที่ควร เร่งทำ คือกรรมดี

อย่าทนทุกข์ กับอดีต อันขมขื่น   อย่าเริงรื่น อนาคต อันสดใส ปัจจุบัน ย่อมสำคัญ กว่าสิ่งใด    ถ้าตั้งใจ ไว้พอดี มีสุขเอย
 
อันลาภยศ สรรเสริญ พาเพลินใจยามยิ่งใหญ่ สุขใจจริง หยิ่งผยอง ยามเสื่อมลาภ ไร้ยศ หมดลำพอง รู้ทำนอง โลกธรรม ไม่ช้ำใจ
   
ความสุขก็ ยึดไว้ ไม่ได้ดอก ความทุกข์ก็ หลอกหลอก จริงที่ไหน ทุกทุกสิ่ง เพียงผ่านมา แล้วลาไกล เหลือไว้แต่ ความว่าง อย่างนั้นเอง
  
ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่มีเพียงแต่ ต้นทุน
บุญกุศล ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชนแม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ
  
เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน เจ้ามามือเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา
                                                                               
เราเกิดมา เวียนวน ในสงสาร แสนช้านาน ยิ่งนัก ทุกข์หนักหนา จนกับมี ดีกับชั่ว พัวพันมา เหลือระอา ถ้าจะนับ อัประมาณ

: แสงส่องใจ : 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เรียบเรียงใหม่โดย manman

ทำดี9 วิธีได้บุญ แบบไม่ต้องใช้เงิน

9 วิธีทำดี ได้บุญ แบบไม่ต้องใช้เงิน

😂ทำดีบ่ มีไครเห็น คือทำดี
แต่ทำดี หวังคนเห็น คือเอาหน้า
อยากทำดี ต้องเป็นเหมือน ดังดาราทำหนักหนา ต้องยิ้มทน เป็นคนดี 

คน ไทยเรานั้น ได้ชื่อว่าเป็นพวกที่ชอบทำบุญสุนทานอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ซึ่งแม้ปัจจุบัน หลายคนจะรู้สึกกังขาว่า ทำไม คนที่เรารู้สึกว่าชั่วยังคงได้ดิบได้ดี เช่น ยังมีเงินทองและใช้ชีวิตที่สุขสบายกว่าเรา แต่นั่นก็ยังอธิบายได้ว่า เขาทำกรรมเก่าดีหรือยังกินบุญเก่าอยู่ ซึ่งที่เราเห็นด้วยตาว่าเขาสุขสบายก็อาจไม่จริง บางทีเขาอาจกำลังทุกข์ใจ เพราะต้องคอยระแวงปกปิดความผิดของตน กลัวคนไปล่วงรู้อยู่ก็ได้ อย่างไรก็ดี 

โดยพื้นฐานแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะชอบทำบุญ เพราะเชื่อว่าเป็นการทำความดี และเป็นการสะสมผลบุญที่จะสนองให้เราได้รับสิ่งที่ดีในอนาคตหรือในชาติหน้า ซึ่งโดยแท้จริงการทำบุญนั้น ทันทีที่ทำก็เป็นความสุขแล้ว เพราะ บุญ คือ การทำความดีด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้อิ่มเอิบเบิกบานใจ

โดย ทั่วไป คนมักทำบุญกุศลด้วยการบริจาคทรัพย์ สิ่งของ หรือให้ทานเป็นโอกาสๆ เช่น บริจาคช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ ร่วมสร้างศาสนสถาน ทอดกฐินผ้าป่า ช่วยเด็กกำพร้า หรือช่วยซื้อโลงศพ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เชื่อไหมว่า ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น

เรา มีโอกาสทำความดีหรือทำบุญได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องใช้เงินทองหรือสิ่งของ ถึงแม้เราจะไม่ได้มีอาชีพเป็นแพทย์ พยาบาลที่ต้องช่วยเหลือคนเป็นประจำอยู่แล้วก็ตาม จะทำได้อย่างไรนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเสนอแนะ ๙ วิธีทำดี ได้บุญ แบบไม่ต้องใช้เงิน เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านได้สะสมกุศลให้เพิ่มพูนขึ้น ดังต่อไปนี้

1. ตื่นเช้าขึ้นมาก็คิดแต่สิ่งดีๆ ทันทีที่ตื่นนอน หากเราคิดถึงแต่สิ่งที่ดีที่งาม ก็จะทำให้จิตใจเราสดชื่น กระตือรือร้น พร้อมที่จะรับมือกับชีวิตประจำวันด้วยความรื่นเริง ไม่หงุดหงิด โมโห แค่นี้ นอกจากเราจะมีความสุขแล้ว คนรอบข้างเราก็มีความสุขไปด้วย ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

2. ยิ้มแย้มแจ่มใส ในแต่ละวัน หากเราจะรู้จักยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ว่าจะยิ้มกับคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม หน้าตาของเราก็จะดูเป็นมิตร ทำให้คนอยากเข้าใกล้

3. ทักทายโอปราศรัย คนบางคน นอกจากจะไม่ยิ้มกับใครแล้ว ยังชอบทำหน้าบึ้งตึงไม่คิดจะพูดจาทักทายใครด้วย ซึ่งถ้าเกิดทำงานด้านบริการ คนมาติดต่อคงรู้สึกเกร็งและกังวลตลอดว่าจะถูกเอ็ดตะโรเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้น นอกจากยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว เราก็ควรจะเอื้อนเอ่ยวาจาทักทายผู้มารับบริการก่อน การทักทายปราศรัยกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้มาขอรับบริการ เพื่อนฝูงคนรู้จัก ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือแม้แต่คนที่มาทำงานให้เรา เช่น แม่บ้าน ยาม ฯลฯ จะทำให้เขารู้สึกเป็นมิตร และอบอุ่นใจ ทำให้บรรยากาศในที่นั้นๆดีขึ้น

4. แบ่งปันน้ำใจไมตรี สามารถทำได้ทุกที่และทุกเวลา เช่น ช่วยพ่อแม่จัดโต๊ะอาหาร ล้างถ้วยชาม ลุกให้เด็ก ผู้หญิงท้อง หรือคนแก่นั่ง ช่วยถือของหนักให้คนในรถเมล์ หยุดรถให้คนข้ามถนนหรือรถอื่นไปก่อน ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้เพื่อนในที่ทำงาน เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ เป็นการทำบุญด้วยการลดความเห็นแก่ตัวของเราลง และทำให้เราได้รับมิตรไมตรีสนองตอบกลับมาด้วย

5. ปลุกปลอบให้กำลังใจช่วยแก้ไขปัญหาหลายๆ ครั้งที่เพื่อนฝูงญาติมิตรอาจประสบปัญหาชีวิตและเกิดความทุกข์ใจแสนสาหัส สิ่งที่ดีที่สุดคือ ความเป็นมิตรและถ้อยคำที่ปลุกปลอบให้กำลังใจ คำพูดดีๆที่มาจากใจจะทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ รู้สึกดีขึ้นและมีพลังที่ต่อสู้ชีวิตต่อไปได้

6. ให้คำชมด้วยความนิยมยินดี การกล่าวคำชื่นชมต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ย่อมจะทำให้ผู้รับคำชมรู้สึกปลาบปลื้มยินดี และมีความสุขได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาทำสำเร็จ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและจริงใจด้วย

7. แนะนำให้คำสอนที่ดี มีคุณค่า ไม่ว่าจะเราจะอยู่ในสถานภาพใด เช่น เป็นลูก เป็นพ่อแม่ ลูกน้อง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพ ฯลฯ หาก เราจะมีเมตตาแนะนำในสิ่งที่ดี มีประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น หรือสอนในสิ่งที่เราชำนาญให้แก่ผู้อื่น ก็จะเป็นการช่วยเกื้อกูลสังคมให้ดียิ่งขึ้น และผลก็จะย้อนมาสู่ตัวเราผู้ทำด้วย เช่น สอนงานให้ลูกน้อง ต่อไป เมื่อเขาทำงานเป็นเราก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก และเขาก็จะรู้สึกขอบคุณเรา แนะวิธีออกกำลังกายให้พ่อแม่ ท่านก็แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เราก็สบายใจ หรือแม้แต่การแนะนำให้ความรู้ที่เรามีหรือทราบมาแก่คนไม่รู้จัก อย่างแนะนำหมอ ยาดีๆหรือธรรมะที่ดีแก่คนอื่น ทำให้เขาหายป่วยหรือรู้สึกดีขึ้น เขาก็จะอธิษฐานหรือให้พรเรา ทำให้เราพบแต่สิ่งดีๆในชีวิต

8. การให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น โดยทั่วไปคนเรามักจะให้อภัยตัวเองง่าย และมีข้อแก้ตัวให้ตนต่างๆนานา แต่ถ้าผู้อื่นผิดพลาดแล้ว เรามักเห็นเป็นเรื่องใหญ่และตำหนิติเตียนไม่รู้จักแล้วจบ ดังนั้น เราจะต้องหัดมีเมตตา รู้จักให้อภัยต่อผู้อื่นให้ง่ายเหมือนให้อภัยแก่ตัวเราเอง เพราะการให้อภัย จะทำให้เราไม่ผูกใจเจ็บ ไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่ก่อศัตรู แต่ทำให้จิตใจเราสงบเย็น เป็นฝึกจิตพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่กุศลขั้นสูงอื่นๆต่อไป

9. ฝึกจิตให้สงบและสบายด้วยการทำสมาธิหรือสวดมนต์ การทำสมาธิ ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ เราทำได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรอยู่

ที่ กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเป็นการทำความดีที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราได้โดยไม่ยากเย็นเข็ญใจจนเกินไป อีกทั้งปฏิบัติแล้วก็เป็นบุญกุศลที่จะเกื้อหนุนให้เราและคนรอบตัวมีความสุข เพราะ"บุญ" ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ เครื่องชำระกาย ใจให้บริสุทธิ์ เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ตัวเราเอง และผู้อื่น และยังช่วยลดกิเลส ความเศร้าหมองต่างๆได้ เริ่มทำแต่วันนี้เลยนะคะ เพราะมีคนบอกว่า "ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง"

เรียบเรียงใหม่โดย manman

8 วิธีง่ายๆข้อแนะนำในการทำความดี

ภายใต้ชื่อ "ทำดีเพื่อพ่อ" ซึ่งใน โครงการได้จัดทำหนังสือชื่อว่าทำดีเพื่อพ่อ แนะนำ 8 วิธีง่ายๆ ในการทำดีโดยเริ่มจากตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และสามารถทำได้ทุกวัน สรุปได้ดังนี้.-
วิธีที่ 1 ร่างกายแข็งแรง
วิธีที่ 2 ทำใจให้เป็นสุข
วิธีที่ 3 ความรักครอบครัวและคนใกล้ตัว
วิธีที่ 4 อาสาช่วยเหลือสังคม
วิธีที่ 5 ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
วิธีที่ 6 ปลูกต้นไม้ถวายเป็นพระราชกุศล
วิธีที่ 7 พอเพียง ประหยัด และอดออม
วิธีที่ 8 รู้จักการให้และบริจาค

ข้อแนะนำในการทำความดี

- เป็นความจริงที่พวกเราต้องยอมรับว่า บางคนอยากจะทำความดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำความดีได้อย่างไร เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างอัตคัด คือ ขัดสน ขาดแคลน ฝืดเคือง หรือยากจนในทรัพย์สินเงินทองเป็นอย่างมาก

- ในเรื่องนี้ ก็ขอเรียนว่า การทำความดี ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองเลยก็ได้ แม้จนในทรัพย์สิน แต่ผู้นั้นอาจเป็นผู้ร่ำรวยในน้ำใจอย่างยิ่งใหญ่มหาศาลก็ได้ และอาจเป็นผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้กตัญญูรู้คุณอย่างเยี่ยมยอด หรือยอดกตัญญูก็เป็นไปได้เช่นกัน

- การทำความดี จะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นสำคัญ หากกระทำการสิ่งใดๆ ลงไปก็ดี ถ้าเรารู้สึกเต็มใจ อิ่มใจ ก็ย่อมปลื้มปิติกับสิ่งที่เราทำ และเราก็ได้บุญกุศลจากกรรมดีของเรา ไม่ยิ่งหย่อน และอาจมากกว่าการทำความดีด้วยทรัพย์สินเงินทองด้วยซ้ำไป ก็มีมากหลาย

- การทำความดีด้วยน้ำใจนั้น ทำได้ง่าย และ ทำได้ทันที ถ้ามีโอกาสคราวใดต้องแสดงความมีน้ำใจต่อผู้อื่นทันที ยกตัวอย่าง เช่น ภายในบ้านที่อยู่อาศัย หรือสถานที่พักของเรา จะต้องทราบว่ามีใครอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ ผู้ที่เราอยู่ร่วมด้วยนั้น จะเป็นใครก็ตาม เราต้องตั้งหลักยืดมั่นว่า เราจะต้องหาทุกวิถีทาง ที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่คนภายในบ้านของเราให้มากที่สุด ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเหนือกว่าเรา หรือเท่าเทียมกับเรา หรือต่ำกว่าเราก็ตาม เราจะต้องช่วยเหลือเขา ช่วยงานของเขา ช่วยลดภาระให้แก่คนอื่น โดยเข้าช่วยรับภาระแทน อาทิ ช่วยเก็บสิ่งสกปรกทิ้ง ช่วยรักษาความสะดาด ช่วยทำความสะอาดสิ่งต่างๆ เท่าที่เราสามารถเข้าช่วยได้ในทุกโอกาส หรือแสดงความมีน้ำใจ โดยการยิ้มแย้มเข้าหาเขา ทักทายปราศรัยเขา ข่มสติอารมณ์มิให้โกรธ มิใช้พลุ่งพล่าน เมื่อเขาทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเรา และให้อภัยแก่ความไม่รู้ และความโง่งมของคนอื่น ที่หลงผิดทำสิ่งที่ไม่ดี โดยคิดอยู่แต่ในใจ ห้ามปริปากบอกเขาว่าให้อภัยในความโง่ของเขา เพราะจะกลายเป็นการสร้างอารมณ์ให้เกิดการทะเลาะกัน จะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ไปทะเลาะกับใคร หลีกเลี่ยงการพูดจากระทบกระแทกแดกดัน หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรู โดยมีการข่มใจ มีความอดทน และอดกลั้นในสิ่งที่ไม่ดี ที่มากระทบอารมณ์ของเรา ให้คิดว่าทุกคน เป็นเสมือนญาติมิตรที่มีบุญคุณต่อเรามาก่อนทั้งสิ้น แม้จะมีหรือไม่มีญาติมิตรในชาติปัจจุบันก็ตาม เป็นวิธีการสร้างฐานความคิดที่เราจะเป็นมิตรได้กับทุกคน สามารถให้อภัยเขาได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันอีกต่อไป

- ประการสำคัญ เราต้องคิดเสมอว่า ผู้มีบุญคุณของเรา เขาชอบอะไร เราจะต้องพยายามทำในสิ่งที่เขาชอบ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สุจริต เป็นสิ่งที่ไม่เกลือกกลั้วกับอบายมุขทุกประเภท เป็นสิ่งที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเขาด้วย หากมีสติคิดได้ด้วยปัญญาว่า “เราจะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด แต่จะทำสิ่งที่ดี ที่สร้างความสุขใจให้แก่ผู้อื่นเป็นสำคัญ” คิดได้เช่นนี้ต้องลงมือทำในทันที ในการทำในทุกกิจกรรม จะต้องคำนึงเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเสมอ

- โดยเฉพาะท่านที่ยังมีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือผู้มีพระคุณที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หากอยู่อาศัยด้วยกัน จะต้องพยายามแสดงความมีน้ำใจ ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือการกระทำ ต้องแสดงความมีน้ำใจด้วยปฏิบัติบูชา ทำแต่สิ่งที่ดีๆ ให้แก่ท่าน ถ้าท่านเกลือกกลั้วกับอบายมุข ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ชอบไม่ถูกกฎหมาย ก็ต้องพยายามเชิญชวนชักนำท่านให้ออกจากอบายมุข หรือสิ่งที่ไม่ดีนั้นๆ อาจหาหนังสือธรรมะเล่มบางๆ ไปวางทิ้งให้ท่านอ่าน วันนี้ไม่อ่าน พรุ่งนี้อาจอ่าน พรุ่งนี้ไม่อ่าน สัปดาห์หน้าอาจอ่าน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ท่านมีอารมณ์ดีจะต้องหาโอกาสแนะนำเรื่องกฎแห่งกรรม การกระทำเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็นการกตัญญูกตเวทีอีกวิธีหนึ่ง

- แต่ ถ้าท่านโชคดี ไม่มีบุคคลในครอบครัวของท่าน ที่เข้าไปเกลือกกลั้วกับอบายมุข ไม่มีใครกระทำการสิ่งที่ผิดกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม ท่านก็เพียงต้องประคอง และรักษาน้ำใจของท่านเหล่านั้น โดยต้องคิดให้ดี มีสติให้มั่นคงว่า เราจะทำทุกอย่างที่ดีๆ ให้ท่านมีความพอใจ จะต้องพยายามทำสิ่งที่ดีๆ ที่ท่านชอบ จะไม่โต้เถียงหรือโต้แย้ง จะไม่ชี้แจงเรื่องใดๆ ในเวลาที่ท่านมีอารมณ์โกรธ เพราะการชี้แจงเรื่องใดๆ แม้จะดี แม้จะถูกต้อง ก็ห้ามกระทำ ในเวลาที่ท่านมีอารมณ์โกรธ เพราะเมื่อมีโมหะจิต มีโกรธะจิต ย่อมบดบังปัญญาไปโดยสิ้นเชิง ไม่ควรใช้เหตุผลใดๆ ในขณะที่ท่านมีอารมณ์เสียเป็นอันขาด โดยเฉพาะบุคคลที่มีบุญคุณแก่ตัวของเรา หลังจากอารมณ์ท่านเย็น อารมณ์โกรธของท่านหายไปเมื่อไร
ค่อยหาจังหวะเข้าไปอธิบายเหตุผลและความ ถูกต้องให้ฟัง ซึ่งในช่วงเวลาที่ความโกรธหายไป ก็เหมือนความบ้าหายไป สติและปัญญาของท่านก็จะคืนกลับมา ช่วงเวลานี้เท่านั้นที่เหมาะที่สุดในการชี้แจงเหตุผลและความถูกต้องให้ท่าน ทราบและเกิดความเข้าใจ

- โปรดตระหนักทุกเวลาว่า “เหตุผลและความถูกต้องเป็นจริง” จะใช้ได้ในช่วงเวลาที่บุคคลผู้ฟัง มีสติสัมปชัญญะ และมีปัญญาอยู่กับตัวเท่านั้น ห้ามใช้กับบุคคลที่อยู่ในช่วงมีอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด ผู้ใดใครก็ตามที่อยู่ในอารมณ์โกรธ หรือมีความไม่พอใจเรื่องใดๆ ก็ตาม เราจะต้องตั้งฐานแห่งจิตของเราให้ได้ว่า ขณะนั้นมีผีร้ายสิ่งท่านอยู่ ขณะนั้นท่านอยู่ในภาวะขาดสติช่วงเวลานั้นท่านกำลังเป็นบ้า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ควรแก่การชี้แจงทั้งสิ้น วิธีการทำความดีในช่วงเวลาขณะนั้น คือต้องไม่ชี้แจงเหตุผล และความถูกต้องเป็นจริง หากจะพูดก็พูดเตือนสติว่าอาจเกิดผลเสียหายได้ พูดสั้นๆ แล้วปิดปากให้สนิท ไม่ต้องพูดอะไรอีก โดยให้ทำตามที่ท่านต้องการ ทำในสิ่งที่ท่านพอใจ นี่แหละคือการทำความดี โดยใช้ความอดทน ความอดกลั้น และการข่มใจของตนเองในการไม่ทำให้ผู้มีพระคุณเสียใจ หรือไม่สบายใจ หรือมีความทุกข์ใจ / เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะผู้มีพระคุณของเราที่มีอายุมาก โดยทั่วไป ผู้ที่มีอายุมาก หรือเข้าสู่วัยชรา รวมทั้งผู้ที่กำลังป่วยเจ็บมักจะมีความแปรปรวนทางจิต และอาจกลับกลายเป็นเด็กทารกขี้น้อยใจ เอาแต่ใจตนเองมากขึ้น บางครั้งอาจถึงกับร้องไห้ เมื่อไม่ได้ตามที่ตนต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องเข้าใจถึงผู้ที่ย่างเข้าวัยชรา ผู้ที่อยู่ในช่วงป่วยเจ็บ หรือมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ จะต้องรักษาถนอมน้ำใจของท่านให้มากเป็นพิเศษ

หากเราทำได้เช่นนี้ ก็ถือว่า ได้ทำความดี มีความกตัญญูกตเวที ที่ดีเป็นอย่างมากแล้ว
เรียบเรียงข้อมูลใหม่โดย manman

รายการบล็อกของฉัน