Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

คนที่ตายเพราะ “คำสาปฟาโรห์” ที่แท้ติดเชื้อราในทางเดินหายใจจริงหรือ ?

คนที่ตายเพราะ “คำสาปฟาโรห์” ที่แท้ติดเชื้อราในทางเดินหายใจจริงหรือ ?
ภายในสุสานและที่ร่างของมัมมี่อาจมีเชื้อรามรณะแฝงอยู่ที่มาของ“คำสาปฟาโรห์”


ภายในสุสานและที่ร่างของมัมมี่อาจมีเชื้อรามรณะแฝงอยู่

เสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องคำสาปแช่ง ซึ่งจะทำให้ผู้บุกรุกสุสานและรบกวนความสงบของกษัตริย์อียิปต์ยุคโบราณ ต้องมีอันเป็นไปทุกรายนั้น เริ่มต้นขึ้นหลังมรณกรรมของลอร์ดคาร์นาวอน (Earl of Carnarvon) นายทุนชาวอังกฤษผู้สนับสนุนการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งจากไปอย่างกะทันหันในปี 1923 หลังเปิดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนได้ไม่นาน

การเสียชีวิตที่เป็นปริศนาของลอร์ดคาร์นาร์วอน ติดตามมาด้วยความตายของสมาชิกในทีมขุดค้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายราย จนดูเหมือนว่าเหตุมรณกรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างน่าประหลาด และเป็นไปได้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาทางประวัติศาสตร์และสถิติที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ ในปี 2002 ชี้ว่าการต้องคำสาปนั้น ไม่ได้ส่งผลเพิ่มอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตให้สูงขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังเสนอแนะว่าเชื้อโรคหรือสารพิษก่อโรคบางอย่าง น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตในลักษณะนี้

แท้จริงแล้วลอร์ดคาร์นาร์วอนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ไม่ชัดเจน โดยมีการสันนิษฐานว่าเขาอาจเสียชีวิตเพราะโลหิตเป็นพิษ เนื่องจากติดเชื้อที่แผลซึ่งโดนยุงกัด หรือไม่ก็สิ้นใจเพราะปอดอักเสบ (นิวมอเนีย)


ลอร์ดคาร์นาร์วอน (ซ้าย) เสียชีวิตหลังเปิดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนได้ไม่นาน ส่วนฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (ขวา) กลับมีอายุยืนยาวต่อมาอีกหลายสิบปี

การเสียชีวิตในวัย 56 ปีของเขานั้น แม้จะดูเหมือนด่วนจากไปก่อนวัยอันควร จนทำให้เรื่องของคำสาปมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แต่อันที่จริงนั้นถือได้ว่า เขามีชีวิตยืนยาวตามเกณฑ์อายุขัยปกติของคนในยุคต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเสียชีวิตลงหลังทีมขุดค้นเปิดเข้าสำรวจสุสานฟาโรห์ตุตันคามุนไปแล้วถึง 5 เดือน

อาการของโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตของลอร์ดคาร์นาร์วอน ได้รับการวิเคราะห์ในงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet เมื่อปี 2003 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์ชี้ว่า อาการของท่านขุนนางชาวอังกฤษมีความสอดคล้องกับการติดเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งพบได้อย่างหนาแน่นในสุสานของกษัตริย์อียิปต์โบราณ

ทีมผู้วิจัยชี้ว่า อาการของลอร์ดคาร์นาร์วอนน่าจะเป็นการติดเชื้อราในเนื้อเยื่อปอดส่วนใหญ่ ร่วมกับการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดในโพรงจมูกและลูกตา ไอเป็นเลือด รวมทั้งปอดอักเสบรุนแรงได้

แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า ลอร์ดคาร์นาร์วอนไม่น่าจะติดเชื้อรามรณะดังกล่าว เพราะไม่ได้เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วหลังจากสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไประหว่างการเข้าสำรวจสุสาน แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์อธิบายว่าเชื้อรา Aspergillus flavus สามารถจำศีลสงบนิ่งอยู่ในปอดได้เป็นเวลานาน ก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้แผลงฤทธิ์ออกมา


มัมมี่ของฟาโรห์รามเสสที่สอง มีเชื้อรา Aspergillus flavus อยู่เช่นกัน

กรณีที่ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีถูกเล่นงานด้วยเชื้อรา Aspergillus flavus ในสุสาน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970 โดยทีมสำรวจจำนวน 10 ใน 12 ราย ทยอยเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น หลังเปิดหีบพระศพของกษัตริย์คาซิมีร์ที่ 4 แห่งโปแลนด์ ในสุสานที่อากาศและพื้นผิวเต็มไปด้วยเชื้อราในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากลอร์ดคาร์นาร์วอนแล้ว ผู้ที่ต้องสงสัยว่าถูกคำสาปของฟาโรห์ตุตันคามุนเล่นงาน ยังได้แก่จอร์จ เจย์ กูลด์ นักการเงินชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าชมสุสานเปิดใหม่ โดยเขาจากไปด้วยโรคปอดอักเสบในปีเดียวกับที่ลอร์ดคาร์นาร์วอนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีเซอร์อาร์ชิบาลด์ ดักลาส-รีด นักรังสีวิทยาผู้สแกนร่างของตุตันคามุนด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยอาการเจ็บป่วยอย่างเป็นปริศนาในปีต่อมา

สองกรณีข้างต้นและกรณีของลอร์ดคาร์นาร์วอน อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานบางส่วนที่บ่งชี้ถึงต้นตอแท้จริงของคำสาปว่า มันมาจากเชื้อรามรณะนั่นเอง แต่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังไม่อาจสรุปลงไปได้อย่างแน่นอนว่า ผู้เสียชีวิตทุกรายดับสูญไปเพราะเชื้อราจริงหรือไม่ เนื่องจากบางรายเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรม และหลายรายก็ขาดข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการวิเคราะห์สาเหตุของการเสียชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำทีมเปิดสุสานตุตันคามุนคนสำคัญอย่างฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากคำสาปเลยแม้แต่น้อย และมีชีวิตยืนยาวต่อมาอีกนานหลายสิบปี ก่อนจะเสียชีวิตไปในวัยชราเมื่อมีอายุได้ราว 60 กว่าปี แต่นักวิทยาศาสตร์บางรายสันนิษฐานว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงจะไม่เจ็บป่วยด้วยเชื้อรานี้โดยมีคนจำนวนมากที่สูดหายใจเอาสปอร์ของราเข้าไปทุกวันแต่ไม่เป็นอะไรเลย

มัมมี่ไม่ใช่การรักษาสภาพศพ ที่แท้ชาวอียิปต์โบราณจงใจสร้าง “เทวรูป”

มัมมี่ไม่ใช่การรักษาสภาพศพ ที่แท้ชาวอียิปต์โบราณจงใจสร้าง “เทวรูป”

ฮาเวิร์ด คาเตอร์ กับโลงบรรจุพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน เมื่อปี 1922

ผู้เชี่ยวชาญด้านอียิปต์วิทยารุ่นใหม่จำนวนหนึ่งออกมากล่าวชี้ว่า คนทั้งโลกต่างเข้าใจผิดเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการทำมัมมี่ของคนชั้นสูงกันมาเนิ่นนาน โดยแท้ที่จริงแล้ว ชาวอียิปต์โบราณมีเจตนาจะสร้าง “เทวรูป” จากร่างของฟาโรห์ผู้เปรียบเสมือน “เทพที่มีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์” (living god)  

การที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การทำมัมมี่คือการรักษาสภาพศพให้คงทนถาวร เพื่อที่ผู้วายชนม์จะสามารถฟื้นขึ้นหลังความตายอีกครั้งได้นั้น มาจากการตีความผิดของนักโบราณคดีรุ่นแรก ๆ ในยุควิกตอเรียน ซึ่งมีอคติเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความตาย ได้เผยแพร่ความเข้าใจที่ผิดว่าด้วยมัมมี่ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีหลักฐานยืนยันที่เป็นรูปธรรมรองรับ

นักโบราณคดีที่ได้ศึกษาวิจัยด้านอียิปต์วิทยาเป็นกลุ่มแรกนั้น มักได้แก่ชาวอังกฤษในปลายสมัยศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งพากันหมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องชีวิตหลังความตายตามบรรยากาศของยุคสมัย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้หากพวกเขาจะบอกกับคนทั่วไปว่า การทำมัมมี่นั้นก็เพื่อให้ผู้วายชนม์ได้มีชีวิตหลังความตายที่ดี มีร่างกายและใช้ร่างกายเหมือนกับตอนที่อยู่ในโลกมนุษย์ทุกประการ

อย่างไรก็ตาม นักอียิปต์วิทยารุ่นใหม่ในปัจจุบันเริ่มเห็นต่างไปจากความรู้เดิมที่เคยปลูกฝังกันมา อย่างเช่นดร. แคมป์เบล ไพรซ์ จากพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่ามัมมี่ของคนชั้นสูงคือเทวรูป

ดร. ไพรซ์มองว่า มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ถึงกระบวนการทำให้พระศพของฟาโรห์และราชินี “คืนสู่ภาวะเทพที่แท้จริง” ซึ่งก็คือการทำให้ร่างไร้ชีวิตกลายเป็นรูปเคารพที่มีความสำคัญทางศาสนาและจิตวิญญาณ

ตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดใหม่นี้ ได้แก่หน้ากากทองคำที่ใช้วางทับลงบนหีบบรรจุร่างมัมมี่ของฟาโรห์และบรรดาพระราชวงศ์ โดยหน้ากากจะถูกประดิษฐ์ขึ้นให้มีความงามสมบูรณ์แบบตามอุดมคติคล้ายกับเทพ มากกว่าจะมุ่งทำให้เหมือนใบหน้าจริงของผู้วายชนม์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

“มันเป็นความแตกต่างทางความคิดที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ก็มีความสำคัญมาก แนวคิดเก่าที่ว่าวิญญาณจะกลับคืนสู่ร่างและทำให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งนั้น ไม่ได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนในกระบวนการทำมัมมี่หรืองานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับมัมมี่มากนัก มันไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปจินตนาการเอาไว้” ดร. ไพรซ์กล่าว

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ พิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์จะจัดนิทรรศการ “มัมมี่ทองคำแห่งอียิปต์” (Golden Mummies of Egypt) ซึ่งจะมีการจัดแสดงวัตถุโบราณที่เป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดเรื่องมัมมี่คือเทวรูปเอาไว้ด้วย


ร่างมัมมี่ของพระนางฮัตเชปซุต ซึ่งทางการอียิปต์เปิดให้ชมเมื่อปี 2007

ข้อถกเถียงอีกประการหนึ่งซึ่งฝ่ายนักอียิปต์วิทยารุ่นใหม่ยกมาสนับสนุนแนวคิดของตน ได้แก่การที่มัมมี่ของชนชั้นปกครองระดับสูงบางร่างไม่ได้รับการทำศพอย่างพิถีพิถัน โดยขาดความใส่ใจในการถนอมรักษาสภาพศพอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุนนั้น ติดแน่นอยู่กับพื้นด้านล่างของหีบศพเนื่องจากการทำมัมมี่แบบลวก ๆ

ดร. ไพรซ์ แสดงความเห็นว่า “ถ้าอ่านจากบันทึกของผู้ค้นพบสุสานที่เก็บพระศพ มันดูเหมือนว่ากระบวนการทำมัมมี่ผิดพลาดเสียหาย แต่คนโบราณที่รับหน้าที่ทำพระศพไม่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป ดังนั้นร่างมัมมี่ของตุตันคามุนจึงไม่ได้รับการถนอมรักษาอย่างดีเท่าที่ควร”

“นั่นเป็นเพราะว่า การสร้างรูปลักษณ์ของคนตายให้เหมือนตัวจริงตอนยังมีชีวิตอยู่ ชนิดที่ใครเห็นก็จำได้ทันทีนั้น ไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายหรือความตั้งใจของคนทำมัมมี่มาตั้งแต่แรก”

“ชาวอียิปต์โบราณถือว่ารูปเคารพนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเช่นเดียวกับองค์เทพ รวมไปถึงภาพวาดและภาพสลักที่ถือเป็นตัวแทนของเทพเจ้าด้วย โดยถือว่าโลกของภาพสัญลักษณ์เหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวของมันเอง”

บันทึกของอียิปต์โบราณยังระบุว่า เทวรูปในยุคนั้นได้รับการเจิมด้วยน้ำมันและน้ำหอม ในบางครั้งมีการห่อหุ้มเทวรูปด้วยผ้าลินินเหมือนกับการทำมัมมี่ ซึ่งขั้นตอนการมัดและพันด้วยผ้านี้อาจเป็นการถ่ายทอดอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ความเป็นเทพให้แก่รูปปั้นหรือรูปสลักนั้นก็เป็นได้


หน้ากากทองของฟาโรห์ตุตันคามุน

ส่วนการบรรจุอวัยวะภายในของผู้ตายลงในโถที่มีฝาปิดเป็นเศียรของเทพ (Canopic jars) ดร. ไพรซ์มองว่าเป็นการแช่อวัยวะเหล่านั้นให้อิ่มชุ่มด้วยพลังเทพของผู้วายชนม์ มากกว่าจะเป็นการดองรักษาสภาพอวัยวะเอาไว้เพื่อให้หยิบมาใช้สอยได้ง่ายในโลกหลังความตาย

แม้แนวคิดใหม่เรื่องจุดประสงค์ของการทำมัมมี่จะมีเหตุผลน่ารับฟัง แต่ก็มีนักอียิปต์วิทยาจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เห็นด้วยนัก เช่นดร. สตีเฟน บักลีย์ นักโบราณคดีและนักเคมีวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยยอร์กของสหราชอาณาจักร เขาแสดงความเห็นว่าการถนอมรักษาสภาพศพนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการทำมัมมี่ ซึ่งไม่อาจมองข้ามหรือปฏิเสธได้

ดร. บักลีย์บอกว่า “มัมมี่ของฟาโรห์หรือราชินีบางร่างดูเหมือนเทวรูปมากกว่าคนจริง เช่นมัมมี่ของตุตันคามุน, อาเมนโฮเทปที่สาม, และอาเคนาเตน แต่มัมมี่หลายร่างก็ดูเหมือนคนจริงที่กำลังนอนหลับอยู่มากกว่า เช่นมัมมี่ของทุตโมซิสที่สาม, ทุตโมซิสที่สี่, อาเมนโฮเทปที่สอง, และราชินีตีย์ (Tyi) ซึ่งแสดงว่าผู้ทำมัมมี่มีความใส่ใจถนอมรักษาศพให้เหมือนกับยังมีชีวิตอยู่”

“การวาดหรือสลักภาพเหมือนของผู้ตาย ยังรวมเอาตำหนิหรือความบกพร่องทางรูปลักษณ์บางประการไว้ด้วย เพื่อให้วิญญาณสามารถจำร่างของตนได้ เวลาที่กลับคืนสู่บ้านเดิมของตนเป็นครั้งคราว”

“แน่นอนว่าเจตนาในการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณนั้น ไม่ได้อยู่ที่การรักษาสภาพศพให้คงทนถาวรเพียงอย่างเดียว แต่การปฏิเสธไม่ยอมรับอย่างสิ้นเชิงในวัตถุประสงค์หลักดังกล่าว เท่ากับมองผิดประเด็นไปมากทีเดียว” ดร. บักลีย์กล่าวสรุป

รายการบล็อกของฉัน