Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคคลั่งตัวเอง

Narcissistic Personality Disorder
โรค  Narcissistic Personality Disorder
(`นาร์เซอะ'ซิสติก `เพอร์เซอะ'แนลิตี้ ดิส'ออร์เดอร์) หรือที่มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า โรคคลั่งตัวเอง (เรียกย่อๆ ว่า NPD หรือ ภาวะ Narcissism) เป็นภาวะบกพร่องด้านบุคลิกภาพอันเนื่องมาจากอาการหลงตัวเองมากเกินไป ชื่อโรคนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายกรีกที่ว่า มีชายหนุ่มรูปโฉมงดงามชื่อ Narcissus  เป็นที่ต้องตาต้องใจของทั้งสาวและหนุ่มทั้งหลาย (วัฒนธรรมกรีกและโรมันให้ความสำคัญกับความรักในเพศเดียวกันเท่าเทียมกับความ รักต่างเพศ) แต่เขาก็มิได้หมายปองใครจริงจัง กลับหักอกคนที่รักครั้งแล้วครั้งเล่า

จนกระทั่งสุดท้ายเขาโดนสาปโดยเทพเจ้าว่า เขาจะต้องตายเพราะหลงไหลในรูปโฉมของตัวเอง วาระสุดท้ายของเขามาถึง เมื่อเขาก้มลงดื่มน้ำในทะเลสาบแล้วเห็นใบหน้าของตัวเองในน้ำ เขาจึงตกหลุมรักตัวเองทันที เขากระโดดหมายจะคว้าเงาเอาไว้ทำให้ตกน้ำตาย สมกับคำสาบที่เทพเจ้าได้สาปเอาไว้นั่นเอง

อาการของผู้ป่วยโรคนี้จะคล้ายคลึงกับนาร์ซีซัสตามเทพนิยายทุก ประการ กล่าวคือ เขาคลั่งไคล้ตัวเองมากเกินกว่าปกติ จนก่อให้เกิดความบกพร่องทางบุคลิกภาพขึ้นมาได้
จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการ 9 อย่างดังต่อไปนี้ 

   1. ฉันเป็นมือหนึ่งในปฐพี: สำคัญตัวเองผิด ผู้ป่วยมักเข้าใจไปเองว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่นเหนือคนอื่นทั้งปวงในโลกนี้
   2. ฉันทำอะไรก็เทพหมด: คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในทุกด้านอย่างไม่มีขีดจำกัด เลิศเลอ perfect ไปทุกอย่าง
   3. ไม่มีใครเข้าใจฉันนอกจากขั้นเทพด้วยกัน: เข้าใจว่าตัวเองเป็นบุคคลพิเศษ ซึ่งก็จะมีแต่บุคคลพิเศษด้วยกันเท่านั้นที่จะเข้าใจตัวเขาได้
   4. ฉันเท่ห์ที่สุดในโลก: ต้องการการชื่นชมสนใจจากคนอื่นมากเกินไป
   5. ก็ฉันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ใครจะทำอะไรฉันได้: มีความรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ถูกต้องไปหมดทุกอย่าง จึงไม่มีความรู้สึกผิดเวลาที่ทำอะไรผิดพลาด
   6. ทำนู่นทำนี่ให้ฉันที: ชอบใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อทำประโยชน์บางอย่างแก่ตัวเองอยู่เสมอ
   7. คนอื่นจะเป็นยังไงฉันไม่สน: จิตใจกระด้างเย็นชา ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง
   8. นี่แม่งทำอะไรก็เทพหมด / คนอื่นๆ อิจฉาฉันเพราะฉันเก่งกว่าพวกนั้นทุกคน: อิจฉาริษยาคนรอบข้าง และ/หรือ มีความเชื่อว่าคนอื่นๆ รอบตัวกำลังอิจฉาตัวเขาอยู่
   9. อะไรๆ ที่ไม่ถูกใจถือว่างี่เง่าหมดสำหรับฉัน: แสดงความหยิ่ง ยะโส โอหัง ออกมาทั้งทางพฤติกรรม คำพูด และทัศนคติ

[Disclaimer: ท่านผู้อ่านไม่ต้องตกใจถ้าพบว่าท่านหรือผู้ใกล้ชิดของท่านมีอาการเหล่านี้ การวินิจฉัยภาวะโรค NPD ต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีอคติต่อผู้ป่วยก่อนการวินิจฉัยเสมอ ตัวท่านผู้อ่านเองอาจมีทัศนคติบางอย่างซ่อนอยู่ก่อนการวินิจฉัย ผลการวิเคราะห์ด้วยตัวท่านเองจึงอาจไม่สมบูรณ์ 100%]

ที่ผม hilight ไว้ด้วยสีแดงนี้คือคำจำกัดความที่ผมคิดขึ้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถ จินตนาการภาพอาการของผู้ป่วยจากคำพูดติดปากของเขาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้อาจไม่แสดงอาการครบทั้ง 9 อย่างนี้ก็ได้ การแสดงออกอาการเพียง 4-5 อย่างก็ถือว่าเข้าข่ายการเป็นโรคนี้แล้ว

โรคนี้จะเกิดขึ้นกับน้อยกว่า 1% ของประชากรโดยรวม และพบเพียง 2-16% ของผู้ป่วยจิตเภทด้วยซ้ำ ผู้ป่วยโรคนี้จึงพบได้ยากในสังคมทั่วไป ผู้ป่วยมักทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนร่วมงานและบุคคลรอบข้างเสียไป เพราะสังคมไม่ยอมรับในตัวของเขา


โรคนี้พัฒนาขึ้นในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น ต้นตอของโรคเกิดจากปมด้อยอันน่าอับอายของผู้ป่วยที่คิดว่าสังคมทั่วไปไม่ยอม รับ ทำให้เขาสร้างเกราะขึ้นมาปกป้องจิตใจอันบอบบางจากการปฏิเสธและการโดดเดี่ยว จากสังคม ผู้ป่วยจึงสร้างความคลั่งไคล้ในตัวเองขึ้นมาเพื่อชดเชยกับการขาดการยอมรับ เหล่านั้น ความเชื่อดังกล่าวจะฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกทำให้ยากต่อการรักษาด้วย จิตแพทย์ เพราะแม้แต่ผู้ป่วยเองก็ยังกลัวที่จะเปิดเผยความลับในระดับจิตใต้สำนึกเช่น เดียวกัน

ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการซาดิสต์ร่วมด้วย โดยผู้ป่วยมักจะทำร้ายจิตใจของผู้อื่นด้วยการดูถูกถากถางอย่างจงใจ (intentional insult) เพื่อทำให้เหยื่อเกิดความบาดเจ็บทางจิตใจ เป็นการชดเชยกับประสบการณ์ร้ายที่ตนเคยประสบมาในอดีต ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยังเกลียดการเสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการทำให้เขาเสียหน้า

เพราะจะเป็นการกระแทกเข้าที่ปมด้อยในด้านสังคมของผู้ป่วยอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจสร้างเกราะในจิตใจเพิ่มขึ้นทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ หรือหากเป็นการละเมิดหน้าอย่างร้ายแรง ผู้ป่วยอาจขาดความยับยั้งชั่งใจและกระทำการต่างๆ เพื่อปกป้องหน้าของเขาได้ เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การฆ่า

เคยมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นในอังกฤษมาแล้วว่า ผู้ป่วยโรคคลั่งตัวเองคิดว่าตัวเองเป็นนักเทนนิสระดับโลกและร่ำรวยมหาศาล เขาแอบนำบัตรเครดิตของพ่อไปซื้อตั๋วเครื่องบินพาแฟนสาว (ซึ่งเขาก็หลอกเธอว่าเป็นนักเทนนิสระดับโลกเช่นกัน) ไปชมการแข่งขันเทนนิสที่นิวยอร์ค พ่อและแม่ของเขาจับได้จึงตำหนิเขาอย่างรุนแรง เขารู้สึกเสียหน้าอย่างมากจึงใช้ฆ้อนฆ่าพ่อและแม่ของเขาอย่างทารุณ เขายังคงไปเที่ยวกับแฟนสาวตามปกติ โดยทิ้งศพของพ่อแม่ไว้ในบ้านถึง 2 อาทิตย์ เมื่อเขากลับมา เขายังแบกศพของพ่อแม่ออกมาทิ้งหน้าบ้านอย่างไม่สะทกสะท้านอะไร

ตำรวจจับเขาในข้อหาฆาตกรรมพ่อแม่ตัวเอง เขาแสดงอาการหยิ่งยะโสต่อหน้าตำรวจ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเขาฉลาดกว่าตำรวจทุกคน (ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย) สุดท้ายเขารับสารภาพว่าเขาฆ่าพ่อแม่ของเขาเอง เขาถูกฟ้องข้อหาฆาตกรรม อย่างไรก็ตาม คดีนี้ถูกยกฟ้องเนื่องจากศาลอังกฤษพิจารณาว่าเขาเป็นโรคคลั่งตัวเอง จึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถึงกระนั้นทุกวันนี้เขายังคงถูกจองจำในสถานบำบัด ผู้ป่วยโรคจิต (asylum) อยู่ดี

ต้นตอที่ทำให้เขาเป็นโรคคลั่งตัวเองก็เพราะว่า แม่ของเขาเลี้ยงเขาอย่างเข้มงวดเกินไป แม่ไม่ยอมให้เขาไปเล่นกับเด็กคนอื่น แม่ยังคงอาบน้ำให้เขาแม้ว่าเขาจะอายุ 18 แล้ว แม่บงการชีวิตของเขาทุกอย่างแม้แต่กับเสื้อผ้าหน้าผม เขาเก็บความรู้สึกอับอายเอาไว้ภายในจิตใต้สำนึก จนทำให้เขากลายเป็นโรคคลั่งตัวเองไปทีละน้อยนั่นเอง
โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นโรค นี้ก็ตาม เช่นเดียวกับที่คนติดบุหรี่ไม่อาจเลิกบุหรี่ได้แม้ว่าจะรู้ตัวว่าติดบุหรี่ นอกจากว่าจะมีกำลังใจจะเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา โรคคลั่งตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์บางท่าน เช่น James F. Masterson เริ่มเสนอวิธีการรักษาโรคนี้แล้ว ถึงกระนั้น บุคคลรอบข้างก็อาจต้องปรับตัวให้ยอมรับอาการของผู้ป่วยบ้าง เพื่อไม่ให้อาการของเขาเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติม โดย musa2554
เอามาให้อ่านเป็นความรู้ครับ เผื่อคน(บางคน)แถวนี้กำลังเป็นโรคนี้อยู่

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคซึมเศร้า


การเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงได บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงได เป็นต้น และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม
บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามาบางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน


2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต
บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ

3. สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ

4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้
ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว

5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงระหว่างคู่ครองบ่อยๆ

6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน

7. อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ท่านรองศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

รายการบล็อกของฉัน