รู้ไหมว่า..สีบางสี จะดึงดูดให้ยุง บินเข้ามาหา
ทีมนักวิทยาศาสตร์วิจัยพบว่ายุงจะละเลยสีบางสี และจะถูกดึงดูดให้บินเข้าหาสีที่ตรงข้ามกัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน นำโดยศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ ริฟเฟลล์ วิจัยพบว่ายุงจะละเลยสีบางสี และจะถูกดึงดูดให้บินเข้าหาสีที่ตรงข้ามกัน
เริ่มต้นจากการกระตุ้นด้วยกลิ่น ซึ่งก็แน่นอนว่าสำหรับยุงตัวเมีย กลิ่นที่จะมากระตุ้นก็คือกลิ่นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากนั้นยุงก็จะเริ่มใช้ดวงตาของมันเพื่อมองหาเป้าหมาย
กระบวนการกระตุ้นด้วยกลิ่นก่อนนี้ ทีมงานอธิบายง่ายๆว่าเหมือนมนุษย์เรา
“ลองนึกภาพว่าคุณอยู่บนทางเท้าและได้กลิ่นแป้งพายและอบเชย” ศาสตราจารย์ริฟเฟลล์กล่าว ” หลังจากนั้นคุณก็จะเริ่มสอดส่ายสายตามองหา ก็นั่นอาจหมายถึงว่ามีร้านเบเกอรี่แสนอร่อยอยู่ใกล้ๆ”
มนุษย์ไม่สามารถรับรู้กลิ่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เหมือนยุง เฉดสีที่เรามองเห็นได้ดวงตาก็อาจไม่ตรงกับที่ยุงมองเห็น ดวงตามนุษย์มองเห็นความยาวคลื่นแสง 650 นาโนเมตรเป็นสีแดง และความยาวคลื่นแสงที่ 450 นาโนเมตรเป็นสีน้ำเงิน ดวงตาของยุงก็อาจจะรับรู้แตกต่างออกไป
ทีมงานทำการทดลองโดยใช้ยุงลายเพศเมีย ซึ่งโดยปกติเป็นยุงที่นำไวรัสที่ก่อโรคร้ายแรงกับมนุษย์ เช่นโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา มาขังเอาไว้ในกล่อง เมื่อเริ่มกระตุ้น โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในกล่อง ยุงตัวเมียเหล่านั้นจะเริ่มมองหาเป้าหมายด้วยสีต่างๆที่ทีมงานจัดเซ็ทเอาไว้ให้
👉🏽ทีมงานพบว่า ยุงในกล่องทดลองจะบินเข้าหาเป้าหมายสีส้ม สีแดง และสีดำ แต่จะเพิกเฉยต่อเป้าหมายที่เป็นสีเขียว สีฟ้า หรือสีม่วง
เมื่อดูลักษณะของความยาวคลื่นแสงก็พบว่ายุงจะบินเข้าหากลุ่มของสีที่มีความยาวคลื่นแสงยาวกว่ากลุ่มของสีที่มันเพิกเฉย
และสีผิวของมนุษย์ ไม่ว่าชนชาติใด ในสายตายุงจะมองเห็นเป็นความยาวคลื่นแสงที่ยาวกว่าสีที่มันเพิกเฉย มันจึงมักบินเข้ามาหา หลังถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทีมงานลองยื่นมือเปล่าๆเข้าไปในกล่อง ยุงจะบินเข้ามาตอมมือข้างนั้นทันที แต่เมื่อทดลองสวมถุงมือสีเขียวยุงก็จะบินผ่านไปไม่สนใจ
“การทดลองเหล่านี้ เพื่อให้เราได้รู้ขั้นตอนแรกๆที่ยุงใช้ในค้นการหาอาหาร” ศาสตราจารย์ริฟเฟลล์กล่าว