Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จริยธรรมคืออะไร..

จริยธรรม(Ethics)
จริยธรรม หรือ จริยศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาหลักของ วิชาปรัชญา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความดีงามทางสังคมมนุษย์ จำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว จริยธรรม หมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว มาจากคำ 2 คำคือ จริย กับธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ

ความหมายตามพจนานุกรมในภาษาไทย จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ศีลธรรมอันดี ตามธรรมเนียมยุโรป อาจเรียก จริยธรรมว่า Moral philosophy (หลักจริยธรรม) จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม

จริยธรรม (Ethics)
คำว่า "จริยธรรม" แยกออกเป็น จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายประการ เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น "จริยธรรม" จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า "หลักแห่งความประพฤติ" หรือ "แนวทางของการประพฤติ"

จริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ มีที่มาจากบทบัญญัติหรือคำสั่งสอนของศาสนา หรือใครก็ได้ที่เป็นผู้มีจริยธรรม และได้รับความเคารพนับถือมาแล้ว
ลักษณะของผู้มีจริยธรรม ผู้มีจริยธรรมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
๑. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
๒. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
๓. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
๔. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
๕. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใด ๆ ได้
จริยธรรมคืออะไร
เรื่องจริยธรรมนั้นมีนักปราชญ์ให้ความหมายเอาไว้มาก  แนวคิดของแต่ละท่านมีทั้งเหมือนกัน คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน  ถือว่าเป็นเรื่องนานาทัศนะ  เพราะจริยธรรมเป็นการตีกรอบความประพฤติให้คนในสังคมได้แนวทางปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะและอาจกล่าวได้ว่า
จริยธรรมคือเครื่องประดับของบุคคลในสังคมนั้น ๆ เพราะเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่โดดเด่นให้เห็นได้ชัดเจน
คำว่า  จริยธรรม  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. 2525  ได้ให้ความหมายดังต่อไปนี้  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  ศีลธรรม  กฎศีลธรรม  (ราชบัณฑิตยสถาน. 2539: 216 )

จริยธรรม ( Ethical  Rules ) คือประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติ
 ( กีรติ  บุญเจือ . 2538 : 4 )
จริยธรรมหมายถึงธรรมชาติหรือหลักธรรมที่บุคคลควรประพฤติ  จัดว่าเป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง  อันเป็นสิ่งที่ประสงค์ของสังคมและจริยธรรมจะมีได้จำต้องอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา  อันได้แก่  ศีล ( Precept ) อันหมายถึงหลักหรือกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติเพื่อดัดหรือฝึกหัดกายและวาจาให้เรียบร้อย  ให้เป็นปกติ

กล่าวคือ  จะพูดหรือทำสิ่งใดให้เป็นไปตามธรรมชาติ  อย่าให้ผิดปกติ
( ผิดศีล ) เช่น  พูดให้ถูกต้องให้เป็นธรรม  กระทำให้ถูกต้องให้เป็นธรรม  เมื่อพูดหรือกระทำให้ถูกต้องและเป็นธรรม  ย่อมมีความสุข ความสบาย  เยือกเย็น  ไม่เดือดร้อนดังกล่าว จึงเป็นผลของการมีศีลหรือเป็นผลของการมีคุณธรรมในจิตใจ  เมื่อมีคุณธรรมในจิตใจแล้วก็เป็นเหตุให้ประพฤติจริยธรรมได้ถูกต้อง  ดังนั้นคุณธรรมและศีลจึงเป็นโครงสร้างของจริยธรรม
( บุญมี  แท่นแก้ว. 2541 : 1 )


จริยธรรม  คือ  กิริยามารยาทการประพฤติปฏิบัติที่สังคมปรารถนา  เป็นแนวทางเพื่อบรรลุสภาพชีวิตที่ดีงามทั้งทางกาย  วาจา  ใจ ( ทำ  พูด  คิด ) เป็นไปในทางที่ดีและละเว้นสิ่งที่ผิดต่อปทัสถานของสังคม ( social  Norm ) (  พิภพ  วชังเงิน. 2546 : 4 )

จริยธรรม คือ  กฎเกณฑ์ความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติ  โดยได้จากหลักการทางศีลธรรม  หลักปรัชญา  วัฒนธรรม  กฎหมายหรือจารีตประเพณี  เพื่อเสริมสร้างมนุษย์สมบัติที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์โดยธรรมชาติ  เพื่อประโยชน์สุข
แก่ตนเองและสังคม  นอกจากนี้จริยธรรมยังใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจเลือก
ความประพฤติ  การกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย
(  มัญชุภา  ว่องวีระ.2541 : 6 )

กล่าวโดยสรุปแล้ว  คำว่า  จริยธรรมมาจากรากศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต  ดังนี้  จริยะ  หมายถึง ความประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากการกระทำทางกาย  วาจาและใจ
ธรรมะ  หมายถึง  คำสั่งสอนในทางศาสนาที่มนุษย์นำมาเป็นสื่ออุปกรณ์  เพื่อข้ามไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ถูกต้องดีงาม
ดังนั้นจริยธรรม  หมายถึง  การปฏิบัติตนตามคำสอนในทางศาสนาเพื่อความถูกต้องดีงามของชีวิต..
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

รายการบล็อกของฉัน