Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

อัยน์ญะลุตสงครามจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก


อัยน์ญะลุต—จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก
กองทัพทหารม้าที่เหี้ยมโหดจากมองโกเลียบุกโจมตีดินแดนแห่งแล้วแห่งเล่า ทำลายล้างทุกเมืองที่ไม่ยอมศิโรราบ. ในเดือนกุมภาพันธ์ 1258 กองทัพนี้โจมตีกรุงแบกแดดและเจาะทะลวงกำแพงเมืองได้. พวกเขาฆ่าฟันและปล้นเมืองนั้นถึงหนึ่งสัปดาห์. โลกอิสลามสั่นสะท้านเนื่องจากกลัวพวกมองโกล.*

ในเดือนมกราคม 1260 ขณะที่พวกมองโกลเคลื่อนทัพไปทางตะวันตก เมืองอะเลปโป ประเทศซีเรีย ก็ถูกตีแตกเช่นเดียวกับกรุงแบกแดด. ในเดือนมีนาคม ดามัสกัสยอมจำนนและเปิดประตูเมืองให้พวกมองโกล. ไม่นานหลังจากนั้น พวกมองโกลยึดเมืองนาบลุส (ใกล้ซากเมืองเชเคมโบราณ) และเมืองกาซา.
ฮูเลกู (Hülegü) แม่ทัพชาวมองโกลเรียกร้องให้สุลต่านอัล-มุซัฟฟาร์ ซัยฟ์ อัล-ดิน กุตุซ
 (al-Muzaffar Sayf al-Din Qutuz) ผู้ปกครองชาวมุสลิมแห่งอียิปต์ ยอมจำนนด้วย. /

ฮูเลกูขู่ว่าถ้าเขาไม่ยอม อียิปต์จะประสบผลที่เลวร้าย.
กองกำลังของฮูเลกูมีจำนวนมากกว่ากองทัพอียิปต์ซึ่งมีอยู่ 20,000 คนถึง 15 เท่า. ศาสตราจารย์นาซีร์ อาเหม็ด นักประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวว่า “ตอนนั้นโลกมุสลิมกำลังจะเผชิญความพินาศ.” สุลต่านกุตุซจะทำอย่างไร?

กุตุซและราชวงศ์มัมลุก
กุตุซเป็นพวกมัมลุก ซึ่งก็คือทาสเชื้อสายเติร์ก. พวกมัมลุกคือทาสที่เป็นทหารของสุลต่านราชวงศ์อัยยูบิดแห่งไคโร ประเทศอียิปต์. อย่างไรก็ดี ในปี 1250 ทาสเหล่านี้โค่นล้มชนชั้นเจ้านายและขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแห่งอียิปต์เสียเอง. กุตุซเป็นอดีตทาสที่เป็นทหารด้วย. ในที่สุด เขาก็ยึดอำนาจและขึ้นเป็นสุลต่านในปี 1259. เขาเป็นนักรบที่ชำนาญศึกซึ่งไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ. อย่างไรก็ตาม เขามีโอกาสน้อยมากที่จะเอาชนะพวกมองโกล. แต่แล้วเหตุการณ์บางอย่างกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์.

มีข่าวมาถึงฮูเลกูว่ามองเค (Möngke) ข่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกลได้สิ้นชีวิตที่มองโกเลียอันไกลโพ้น. ฮูเลกูคาดว่าจะมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่แผ่นดินเกิด เขาจึงถอนกำลังส่วนใหญ่ของเขากลับ. เขาเหลือทหารไว้ประมาณ 10,000 ถึง 20,000 นาย ซึ่งเขาคิดว่าเพียงพอที่จะพิชิตอียิปต์ได้. ตอนนี้กุตุซเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเป็นใจให้เขาแล้ว. เขาคิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะเอาชนะผู้รุกราน.

แต่มีศัตรูของพวกมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ระหว่างอียิปต์และพวกมองโกล นั่นคือพวกนักรบครูเสดของคริสต์ศาสนจักรซึ่งมาที่ปาเลสไตน์เพื่อยึด “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์.” กุตุซขอยกทัพผ่านพวกเขาและขอสิทธิ์ในการซื้อเสบียงเพื่อจะไปต่อสู้กับพวกมองโกลในสงครามที่ปาเลสไตน์. พวกนักรบครูเสดยอม. ที่จริงแล้ว กุตุซเป็นความหวังเดียวของพวกเขาที่จะขจัดพวกมองโกลออกไปจากดินแดนแถบนี้. เพราะทั้งพวกนักรบครูเสดและพวกมุสลิมต่างก็กังวลเรื่องพวกมองโกลเหมือนกัน.

ผลก็คือ กำลังจะเกิดการสู้รบที่มีผลชี้ขาดระหว่างพวกมัมลุกและพวกมองโกล.อัยน์ญะลุตในปาเลสไตน์
กองทัพของพวกมัมลุกและมองโกลพบกันในเดือนกันยายน 1260 ที่อัยน์ญะลุต
บนที่ราบแห่งเอสดราเอโลน. เชื่อกันว่าอัยน์ญะลุตคงอยู่ใกล้เมืองเมกิดโดโบราณ.*

ราชิด อัล-ดิน นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ที่เมกิดโด พวกมัมลุกล่อพวกมองโกลออกมาในที่ที่มีกองทัพซุ่มอยู่. กุตุซซุ่มกองทหารม้าส่วนใหญ่ของเขาไว้ที่เนินเขารอบที่ราบ แล้วสั่งให้กองกำลังเล็ก ๆ ออกไปล่อให้พวกมองโกลเข้าโจมตี. พวกมองโกลหลงเชื่อว่ากองทัพมัมลุกทั้งหมดมีอยู่แค่นั้น พวกเขาจึงเข้าโจมตี. แล้วกุตุซก็ลงมือปฏิบัติการ. เขาสั่งให้กองกำลังที่เหลือขี่ม้าออกมาจากที่ซ่อนและโจมตีพวกมองโกลทั้งสองข้าง.
ผู้รุกรานจึงพ่ายแพ้.

นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพวกมองโกลตั้งแต่พวกเขาเริ่มบุกจากมองโกเลียมาทางตะวันตกเมื่อ 43 ปีก่อนหน้านั้น. แม้ว่ากองทัพที่สู้รบกันค่อนข้างเล็ก แต่อัยน์ญะลุตก็ถือเป็นการรบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์. การรบครั้งนี้ช่วยพวกมุสลิมไม่ให้ถูกกวาดล้าง พิสูจน์ว่าพวกมองโกลก็พ่ายแพ้ได้ และทำให้กองทัพมัมลุกยึดดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมา.

ผลกระทบของอัยน์ญะลุต
พวกมองโกลกลับมาซีเรียและปาเลสไตน์หลายครั้ง แต่ไม่อาจคุกคามอียิปต์ได้อีกเลย. ลูกหลานของฮูเลกูลงหลักปักฐานที่เปอร์เซีย เปลี่ยนมาเข้าศาสนาอิสลาม และภายหลังได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์วัฒนธรรมอิสลาม. เขตแดนของพวกเขาได้มาเป็นที่รู้จักกันว่า อิลคาเนต แปลว่า “เขตปกครองอันดับรองของข่าน.”

กุตุซยินดีกับชัยชนะได้ไม่นาน เขาก็ถูกพวกคู่แข่งสังหาร.
คู่แข่งคนหนึ่งคือบัยบัรส์ที่ 1 สุลต่านคนแรกแห่งอาณาจักรอียิปต์และซีเรีย. หลายคนถือว่าเขาเป็นผู้สถาปนารัฐมัมลุกที่แท้จริง. ประเทศใหม่ของเขามีการบริหารอย่างดี มีความมั่งคั่ง และดำรงอยู่ได้นานถึงสองร้อยห้าสิบปีจนถึงปี 1517.

ในช่วงประมาณ 250 ปีนั้น พวกมัมลุกขับไล่นักรบครูเสดออกไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สนับสนุนการค้าขายและอุตสาหกรรม ส่งเสริมงานศิลป์ สร้างโรงพยาบาล มัสยิด และโรงเรียน. ภายใต้การปกครองของพวกเขา อียิปต์กลายเป็นศูนย์กลางโลกมุสลิมที่ไม่มีใครเทียบได้.การสู้รบที่อัยน์ญะลุตส่งผลต่ออารยธรรมตะวันตกด้วย ไม่เพียงในตะวันออกกลางเท่านั้น. วารสารซาอุดี แอแรมโค เวิลด์ กล่าวว่า “ถ้าพวกมองโกลยึดอียิปต์ได้สำเร็จ เมื่อฮูเลกูกลับมาพวกเขาอาจบุกผ่านแอฟริกาเหนือไปยังช่องแคบยิบรอลตาร์.”

เนื่องจากตอนนั้นพวกมองโกลไปถึงโปแลนด์แล้ว พวกเขาก็จะกดดันยุโรปจากทั้งสองทาง.

วารสารนั้นถามว่า “ภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรปจะเกิดขึ้นได้หรือ? โลกทุกวันนี้คงจะต่างไปมากทีเดียว.”

รายการบล็อกของฉัน