Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

ยีราฟสัตว์ที่ร่างสูงโย่งที่สุดบนผืนพิภพ




"ซูลู" เพราะสูงเกิน 19 ฟุตสูงกว่าสัตว์ตระกูลเดียวกันโดยเฉลี่ยราว 4 ฟุตซูลูยีราฟเพศผู้อายุ 18 ปีน้ำหนัก 1.3 ตันนำมาจากเนเธอร์แลนด์เมื่อห้าปีก่อน

แม้กระทั่งผู้ชำนาญงานขนย้ายยีราฟก็ยังงงงวยประหลาดใจในเรือนร่างที่สูงใหญ่ผิดยีราฟทั้งหลาย ปัจจุบันซูลูอยู่ที่สวนสัตว์ฟอลลีฟาร์ม ในเมืองซาวเดอร์ฟูตเขตเพมโบรกเชียร์อังกฤษ

ทิมมอร์ฟิวผู้ดูแลสวนสัตว์ฟอลลีฟาร์ม ตัวสูงเฉลี่ยประมาณ 15 ฟุตซูลูจึงเข้าข่ายยีราฟพิเศษ 20 กก ตามด้วยอาหารหนั​​กอีกสามโลก

แต่ซูลูเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีสุภาพแถมขี้เล่น ทิมเล่า "ความที่ซูลูใจดีสุภาพอ่อนโยนบรรดาเด็ก ๆ เลยกล้าเข้าใกล้กล้าลูบหัวบ้างบี้จมูกนุ่มของซูลูเล่น"

ด้านโฆษก "กินเนสเวิลด์เรกคอร์ด" บอกยินดีรับรองการทุบสถิติโลกของซูลู.

ทัลลี่ปาปิรัส หลักฐานจานบินในอียิปต์โบราณ?


ทัลลี่ปาปิรัส หลักฐานจานบินในอียิปต์โบราณ?

สำหรับใครที่เป็นสาวกจานบินหรือชื่นชอบเรื่องราวของ UFO น่าจะพอทราบกันดีว่า เรื่องราวของยานบินลึกลับไม่ปรากฏสัญชาตินั้นเริ่มโด่งดังขึ้นครั้งแรกตั้งแต่กรณีที่เชื่อกันว่ามีจานบินตกที่รอสเวลล์ (Roswell) เมื่อปี ค.ศ. 1947 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีผู้ที่พบเห็นจานบินหลายต่อหลายครั้ง
 
สิ่งที่พวกเขาบอกเล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ UFO ค่อนข้างที่จะสอดคล้องและคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเห็นแสงประหลาดปรากฏบนฟากฟ้า บ้างก็ปรากฏขึ้นมาอย่างเงียบๆ บ้างก็มาพร้อมกลิ่นเหม็นพิศวงที่หาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ บางคนก็ได้ระบุขนาดของจานบินลึกลับเอาไว้อย่างชัดเจนในบันทึกของพวกเขาด้วย
 
แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์ที่รอสเวลล์หลายพันปี หลักฐานชิ้นหนึ่งของชาวอียิปต์โบราณดูเหมือนว่าจะพูดถึงการมาเยือนของ “จานบิน” หรือ UFO ในสมัยโบราณไว้ด้วยเช่นกัน!!
 
มันเป็นปาปิรัสที่รู้จักกันในชื่อว่า “ปาปิรัสทัลลี่” (Tulli Papyrus) ที่คาดว่ามีความเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงสมัยของฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 3 (Tuthmosis III) หรือเมื่อประมาณ 1,500 ปี ก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว
 
ที่มาที่ไปของปาปิรัสฉบับนี้ก็ถือว่าไม่ค่อยที่จะชัดเจนเท่าใดนัก เราทราบเพียงแค่ว่าต้นฉบับดั้งเดิมของมันอันตรธานไปนานแล้ว ที่หลงเหลืออยู่ก็เป็นเพียงแค่ฉบับคัดลอกเท่านั้นเอง ผู้ที่ค้นพบมันก็คืออัลเบอร์โต้ ทัลลี่ (Alberto Tulli)  เขาได้ไปเจอกระดาษปาปิรัสแผ่นนี้เข้าที่ร้านขายของโบราณแห่งหนึ่งในกรุงไคโร เมื่อปี ค.ศ. 1934 

แต่ด้วยว่าราคาของมันแพงมาก ทัลลี่จึงขอคัดลอกข้อความบนแผ่นปาปิรัสนั้นมาแทนและได้นำไปให้บอริส เดอ ราเชวิตซ์ (Boris de Rachewiltz) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอียิปต์โบราณลองถอดความดู ซึ่งข้อความที่บอริสแปลออกมาได้นั้นก็ถือว่าน่าทึ่งเอามากๆ
 
ข้อความที่อาลักษณ์ในสมัยของฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 3 ได้บันทึกเอาไว้ถอดความออกมาได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “ปีที่ 22 เดือนที่ 3 ฤดูเพาะปลูก ชั่วโมงที่ 6 ช่วงกลางวัน อาลักษณ์ได้พบเห็นดวงไฟวงกลม (Circle of Fire) ลงมาจากท้องฟ้า มันไม่มีศีรษะและปล่อยกลิ่นที่เหม็นอย่างรุนแรงออกมาจากปากของมัน มันกว้าง 100 คิวบิต ยาว 100 คิวบิต มันไม่มีเสียง...” ความยาว 100 คิวบิตของชาวไอยคุปต์เทียบเท่ากับ 52 เมตร นั่นหมายความว่าดวงไฟวงกลมที่อาลักษณ์ได้เห็นในวันนั้นมีขนาดใหญ่มากเลยทีเดียว
 
หลังจากนั้นไม่นาน ดวงไฟวงกลมปริศนานี้ก็กลับมาอีกครั้งด้วยจำนวนที่มากกว่าเดิม อาลักษณ์ได้บันทึกเอาไว้ว่า “...พวกมันส่องแสงสว่างเต็มท้องฟ้า สว่างเกินกว่าแสงจากดวงอาทิตย์ มันได้แผ่ขยายออกไปทั้งสี่มุมในท้องฟ้า ทั่วทั้งท้องฟ้าเต็มไปด้วยเจ้าดวงไฟวงกลมเหล่านี้...”
 
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อดวงไฟเหล่านี้หายลับออกไปจากท้องฟ้าแล้วก็ได้มีปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นตามมา ด้วยว่ามีปลาและนกตกลงมาจากท้องฟ้าอย่างหาคำอธิบายไม่ได้ ซึ่งอาลักษณ์ที่บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ได้แต่งงงวย แต่เขาก็ยังตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึกเพื่อที่จะได้ให้ทุกคนได้ระลึกถึงเหตุการณ์ประหลาดที่เขาได้เห็นในวันนั้น
 
คำถามที่น่าสนใจก็คืออะไรคือ “ดวงไฟวงกลม” ที่ชาวอียิปต์โบราณบันทึกเอาไว้ในปาปิรัสทัลลี่และมันจะใช่ UFO หรือไม่!? น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้จนถึงทุกวันนี้
 

บางทีสิ่งที่ชาวอียิปต์โบราณเห็นอาจจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างที่แปลกประหลาดหรือบางทีมันอาจจะเป็นเรื่องโอละพ่อ เพราะว่าปาปิรัสต้นฉบับดั้งเดิมได้สูญหายไปนานแล้ว อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าฟันธงเสียด้วยสิว่า อักษรภาพที่อัลเบอร์โต้ ทัลลี่คัดลอกมานั้นจะถูกต้องตามต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน
แต่ถ้าสิ่งที่เขาคัดลอกมาถูกต้อง ข้อความที่ปรากฏบนปาปิรัสก็เขียนได้ตรงตามรูปแบบไวยากรณ์อียิปต์โบราณแท้ๆ เรียกง่ายๆ ว่าถ้ามีคนทำปลอมมันขึ้น คนๆ นั้นก็จะต้องเชี่ยวชาญภาษาของชาวไอยคุปต์เป็นอย่างมาก นั่นจึงทำให้ปาปิรัสทัลลี่เป็นหนึ่งในเรื่องราวพิศวงที่สุดของอียิปต์โบราณที่ยังไม่มีใครสามารถอธิบายมันได้อย่างแน่ชัด
 
และบางทีมันก็อาจจะเป็นปริศนาเช่นนี้ต่อไปตลอดกาล

ดาราศาสตร์ดึกดำบรรพ์ของชาวมายาโบราณ


ดาราศาสตร์ดึกดำบรรพ์ของชาวมายาโบราณ
องค์ความรู้ของชาวมายาโบราณที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ปฏิทิน อักขระเฮียโรกลิฟฟิคและสถาปัตยกรรมทางด้านการก่อสร้างวิหารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนเกี่ยวพันกับสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ นั่นก็คือ 'ดาราศาสตร์'
นักโบราณคดียอมรับว่าชาวมายาโบราณเป็นนักดาราศาสตร์ที่เก่งกาจ พวกเขาสามารถสร้างวิหารและอาคารต่างๆ ให้สอดรับกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะดวงอาทิตย์ที่มักจะสร้างแสงและเงาต่างๆ ให้กับสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงดาวศุกร์ที่ชาวมายาโบราณนับถือในฐานะของสัญลักษณ์แห่งสงคราม ในครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าผลงานใดบ้างของชาวมายาโบราณที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผนวกองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์เข้ากับผลงานทางสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

วิหารเอล-คาราคอล หรือ 'หอยทาก' ในเมืองชิเชน อิทซา ที่มาของภาพ

ชนโบราณแต่ครั้งอดีตล้วนนับถือดวงอาทิตย์เป็นเทพเจ้า รวมถึงชาวมายาโบราณด้วยเช่นกัน พวกเขาเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏกายขึ้นจากขอบฟ้าฝั่งตะวันออกทุกวันและลับขอบฟ้าไปทางตะวันตกทุกวันด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ทว่ารวมถึง 'ตำแหน่ง' ในการปรากฏของดวงอาทิตย์เหนือขอบฟ้าที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลาของปีอีกด้วย ชาวมายาโบราณทราบดีว่าในช่วงระยะเวลา 1 ปีนั้น จะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับดวงสุริยาขึ้น 3 ปรากฏการณ์แต่รวมแล้ว 4 ครั้งในช่วงที่ตรงกับเดือนในปัจจุบันคือ มีนาคม, มิถุนายน, กันยายนและธันวาคม

ในช่วงวันที่ 21 เดือนมิถุนายนของทุกปีคือวัน 'ครีษมายัน' (Summer Solstice) เป็นจุดที่ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นทางด้านเหนือสุดของขอบฟ้าฝั่งทิศตะวันออกและเป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนตำแหน่งการปรากฏตัวของมันไปเรื่อยๆ โดยจะเคลื่อนตัวลงมาทางด้านทิศใต้ และเมื่อถึงประมาณวันที่ 21 กันยายน ก็จะถึงอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวัน
'ศารทวิษุวัต' (Autumnal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์ก็ยังคงเคลื่อนตัวลงไปทางทิศใต้มากขึ้น จนถึงประมาณวันที่ 21 ธันวาคม หรือวัน 'เหมายัน'
(Winter Solstice) ดวงอาทิตย์จะไม่เคลื่อนลงไปทางทิศใต้อีกแล้ว ทว่าจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางกลับมาทางทิศเหนือดังเดิม อีกทั้งยังเป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีอีกด้วย และเมื่อถึงประมาณวันที่ 21 มีนาคมดวงอาทิตย์ก็จะเข้าสู่วัน 'วสันตวิษุวัต' (Spring Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันอีกครั้ง วนเป็นวงรอบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทุกปี ดังนั้นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของ
ชาวมายาโบราณในหลากหลายเมือง ก็ล้วนแล้วแต่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ทั้งสี่วันนี้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นอาคารบางแห่งยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการเฝ้าสังเกตเส้นทางโคจรของดาวศุกร์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำสงครามอีกด้วย

แผนผังของวิหารเอล-คาราคอล แสดงให้เห็นว่าวิหารแห่งนี้ดูบิดเบี้ยว แถมยังไม่สมมาตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลทางด้านดาราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ที่มาของภาพ

กลุ่มอาคารแรกสุดของอารยธรรมมายาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณอย่างชัดเจนก็คืออาคารชื่อว่า 'เอล-คาราคอล' (El-Caracol) ซึ่งแปลว่า 'หอยทาก' ในภาษาสเปน อาคารนี้ตั้งอยู่ในเมืองชิเชน อิทซา (Chichen Itza) แถบคาบสมุทรยูคาทาน เป็นหนึ่งในนครที่รุ่งเรืองอยู่ในยุคหลังคลาสสิก (Post-Classic Period) ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 900 เมื่อลองดูที่โครงสร้างของอาคารแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าสถาปนิกชาวมายาเขาเมาโกโก้ระหว่างกำลังออกแบบหรือเปล่า?

เพราะอาคารที่สร้างออกมานั้นมันช่างดูบิดเบี้ยว ฐานก็ไม่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสดี บันไดที่สร้างเอาไว้ก็ไม่สมมาตร แต่แท้ที่จริงแล้วความจริงที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังความแปลกประหลาดของโครงสร้างแห่งอาคาร 'หอยทาก' นี้ก็คือมันทำหน้าที่ประหนึ่ง 'หอดูดาว' ที่ใช้ในการสังเกตเทหวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้าต่างหากล่ะ

เช่นแท่นยกพื้นของวิหารที่ทำมุมสุดพิลึกนั้น แท้ที่จริงแล้วต้องการให้ชี้ไปยังจุดที่ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นในตอนเช้าของวันครีษมายัน ขั้นบันไดชุดหนึ่งชี้ไปยังเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่ผ่านจุดจอมฟ้า (Zenith Passage) ของเมืองชิเชน อิทซา นอกจากนั้นแล้วขั้นบันไดอีกชุดหนึ่งยังเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ โดยแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางด้านทิศเหนือที่สุดของดาวศุกร์บนท้องฟ้าซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวในรอบ 8 ปีเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วหน้าต่างและประตูอีกหลายบานของอาคาร 'เอล-คาราคอล' ยังเชื่อมโยงกับตำแหน่งต่างๆ ของดวงอาทิตย์และดวงดาวอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้น
นักดาราศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าหน้าต่างบานใดจะเกี่ยวข้องกับดวงดาวใดบ้าง เพราะอาคารนี้สร้างขึ้นมายาวนานนับพันปีแล้ว ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 906 อีกทั้งตำแหน่งของดวงดาวยังเคลื่อนไปหนึ่งองศาทุกๆ 72 ปีอีกด้วย นั่นจึงทำให้ตำแหน่งของดวงดาวในปัจจุบันอาจจะไม่สอดคล้องตรงกันกับตำแหน่งของดวงดาวในอดีตที่ชาวมายาโบราณในนครชิเชน อิทซาเคยสังเกตเห็นเสมอไป

เงาที่เกิดขึ้นบริเวณราวระเบียงพีระมิดเอล-คาสติลโญในวันวิษุวัตดูคล้ายอสรพิษยักษ์ที่กำลังเลื้อยไปตามขั้นบันไดขององค์พีระมิด ที่มาของภาพ

อีกหนึ่งอาคารของชาวมายาโบราณในเมืองชิเชน อิทซา ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือพีระมิด 'เอล-คาสติลโญ' (El-Castillo) อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ของโลกที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับไปเมื่อปี ค.ศ. 2007 นั่นเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วิหารชิเชน อิทซานี้เกี่ยวข้องกับ 'เงา' นั่นหมายความว่าต้องสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์เป็นแน่ นักโบราณคดีเรียกการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับปรากฏการณ์ธรรมชาติว่า
'เฮียโรฟานี' (Hierophany) และปรากฏการณ์ที่ว่านั้นก็จะเกิดขึ้นที่ขั้นบันไดของมหาพีระมิดแห่งชิเชนอิทซาที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าอสรพิษขนนกนี้เอง

ด้วยว่าเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้าไปในวันวิษุวัตทั้งสองครั้งในรอบปีนั้น จะเกิด 'เงา' ของอสรพิษขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นบริเวณราวระเบียงของขั้นบันได ประหนึ่งว่ามีงูยักษ์กำลังเลื้อยลงมาตามขั้นบันไดนั้นก็ไม่ปาน โดยที่บริเวณปลายด้านล่างของบันไดได้มีภาพสลักเศียรงูยักษ์รอท่าอยู่ด้วยเช่นกัน นักโบราณคดียังคงตั้งคำถามกันว่านี่จะเป็นความตั้งใจของชาวมายาโบราณหรือไม่ หรือว่านี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะแค่ 'ความบังเอิญ' เท่านั้นกันแน่?

นอกจากอาคารที่ทำหน้าที่เป็นหอดูดาว หรือการสร้างปรากฏการณ์เฮียโรฟานีได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว ชาวมายาโบราณยังได้สร้างสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์โดยให้ทำงานเป็น 'กลุ่ม' อีกด้วยในปัจจุบัน นักโบราณคดีเรียกขานกลุ่มอาคารนั้นว่า 'กลุ่ม-อี'
(E-Group) และกลุ่มอาคารที่ว่านี้ตั้งอยู่ที่เมือง 'วาชัคตุน' (Uaxactun) ห่างออกมาจากนครโบราณอย่างติกัล (Tikal) ขึ้นมาทางเหนือเพียงแค่ราว 19 กิโลเมตรเท่านั้น

กลุ่มโครงสร้างหลักๆ ของอาคาร 'กลุ่ม-อี' นั้นมีด้วยกันสี่อาคาร อาคารทางเหนือเรียกว่า 'วิหาร อี-1' (Temple E-I) อาคารทางทิศใต้เรียกว่า 'วิหาร อี-3' (Temple E-III) และอาคารที่ตั้งอยู่ตรงกลางเรียกว่า 'วิหาร อี-2' (Temple E-II) ทั้งสามวิหารนี้ตั้งอยู่บนแท่นยกพื้นยาวแห่งเดียวกัน ห่างออกไปจะมีวิหารอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า 'วิหาร อี-7' (Temple E-VII) และเมื่อชาวมายาโบราณมองกลุ่มวิหารสามแห่งจากวิหาร อี-7 ก็จะพบว่าวิหารทั้งสามแห่งสัมพันธ์กับวันสำคัญต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่วิหาร อี-1 นั้นจะสัมพันธ์กับวันครีษมายัน วิหาร อี-2 สัมพันธ์กับวันวิษุวัตทั้งสองวัน และวิหาร อี-3 สัมพันธ์กับวันเหมายันนั่นเอง

แผนผังแสดงความสัมพันธ์ของวิหาร 'กลุ่ม-อี' ในเมืองวาชัคตุนที่เชื่อมโยงกับวันครีษมายัน วันเหมายันและวันวิษุวัต ที่มาของภาพ

นอกจากนั้น อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ขององค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในปัจจุบันทึ่งได้ไม่แพ้กัน ก็คือชาวมายาโบราณสามารถคำนวณปีทางสุริยคติได้แม่นยำเป็นอย่างมาก ด้วยว่าชาวมายาโบราณมีระบบปฏิทินหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นเรียกว่าปฏิทินแบบ 'ฮาบ' (Haab’) ซึ่งเป็นปฏิทินที่มีจำนวนวันในหนึ่งปีเท่ากับตัวเลขที่เราใช้กันในปัจจุบัน(โดยไม่มีปีอธิกสุรทิน) พวกเขาได้กำหนดให้ 1 ปีในปฏิทินแบบฮาบนั้นมีทั้งหมด 365 วัน และในปี ค.ศ. 1906 

นักมายันวิทยานามว่า 'ชาร์ลส์ พี. โบวดิทช์' (Charles P. Bowditch) ได้ค้นพบหลักฐานว่าชาวมายาโบราณได้ระบุว่าระยะเวลา 1,508 ฮาบ เท่ากับ 1,507 ปีทางสุริยคติ โดยที่ 1,508 ฮาบ มีจำนวนวันเท่ากับ 1,508 x 365 = 550,420 วัน และนั่นหมายความว่าสำหรับชาวมายาโบราณแล้ว หนึ่งปีสุริยคติของพวกเขามีจำนวนวันทั้งหมด 550,420/1,507 = 365.2422 วัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขที่นักวิชาการในปัจจุบันให้เอาไว้ที่ 365.24219 วันเป็นอย่างมากเลยทีเดียว!
ในปัจจุบัน นักโบราณคดีและนักมายันวิทยาเพิ่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจชาวมายาโบราณมาได้เพียงแค่ราว 120 ปีเท่านั้น แต่เราก็ยังค้นพบความน่าทึ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า ในอนาคตข้างหน้านี้ นักโบราณคดีต้องค้นพบองค์ความรู้สุดอัศจรรย์ของชาวมายาโบราณอีกนับไม่ถ้วนอย่างแน่นอน.

ตามหา ราชวงศ์ที่สาบสูญ ของอียิปต์โบราณ


ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตำราประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณแทบทุกเล่มจะแบ่งราชวงศ์ของเหล่าฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ออกเป็น 33 ราชวงศ์คล้ายๆ กัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านักอียิปต์วิทยาค้นพบหลักฐานของฟาโรห์หรือราชวงศ์ในอียิปต์โบราณครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดระยะเวลากว่า 3,000 ปีของหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์แต่อย่างใด แน่นอนว่ายังคงมีฟาโรห์อีกหลายพระองค์ที่ปรากฏเพียงแค่ 'พระนาม' ในเอกสารโบราณโดยไม่มีหลักฐานอื่นประกอบเลยแม้แต่น้อย และนักอียิปต์วิทยาส่วนหนึ่งก็จัดฟาโรห์ปริศนาเหล่านั้นเอาไว้ในราชวงศ์ที่ไม่ได้อยู่ในตำราประวัติศาสตร์กระแสหลัก นี่คือปฐมบทของ 'ราชวงศ์ที่สาบสูญ'
แห่งอียิปต์โบราณที่เราจะไปตามหากันในครั้งนี้

จารึกแห่งตูรินคือหนึ่งในเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่กี่ชิ้นที่บันทึกถึงพระนามของฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่สาบสูญ ที่มาของภาพ


แหล่งข้อมูลสำคัญที่นักอียิปต์วิทยาใช้ระบุพระนามของฟาโรห์รวมทั้งปีการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ก็คือบันทึกจากนักประวัติศาสตร์ในอดีตอย่างเช่น มาเนโธ (Manetho) ที่เป็นผู้จัดแบ่งราชวงศ์อียิปต์โบราณออกเป็น 30 ราชวงศ์หลักๆ พร้อมระบุพระนามเอาไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน หรือ แผ่นศิลาพาเลอร์โม (Palermo Stone) ที่บันทึกรายพระนามของฟาโรห์ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 1 ถึงราชวงศ์ที่ 5 ตอนต้นเอาไว้ รวมถึงรายพระนามของฟาโรห์ 76 พระองค์ที่จารึกเรียงต่อกันตั้งแต่ เมเนส (Menes) ซึ่งอาจจะเป็นฟาโรห์องค์เดียวกันกับนาร์เมอร์ ร่ายยาวมาจนถึงพระนามของฟาโรห์เซติที่ 1 (Sety I) ในวิหารแห่งเทพโอซิริส (Osiris) ที่นครอไบดอส (Abydos) ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น “จารึกแห่งตูริน” (Turin Canon) เป็นแน่แท้ ด้วยว่านี่คือเอกสารที่บันทึกในสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 แสดงให้เห็นพระนามและจำนวนปีการครองราชย์ของฟาโรห์พระองค์ต่างๆ มากกว่า 76 พระองค์ที่ถูกจารึกเอาไว้บนผนังวิหารของฟาโรห์เซติที่ 1 เสียอีก

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวอียิปต์โบราณเองก็ไม่ได้บันทึกพระนามฟาโรห์ของพวกเขาเอาไว้อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุครอยต่อ (Intermediate Period) ทั้งสามครั้งที่อียิปต์แตกออกเป็นสองส่วน การปกครองแตกออกไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ยิ่งทำให้นักอียิปต์วิทยารวบรวมและเรียบเรียงรายพระนามของฟาโรห์ในช่วงนี้ได้ยากยิ่ง หนึ่งในช่วงรอยต่อที่ยุ่งเหยิงที่สุดก็คือรอยต่อระยะที่สอง ซึ่งอียิปต์ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกฮิคซอส (Hyksos) ที่ปกครองอยู่ในนครอวาริส (Avaris) ทางตอนเหนือ ส่วนทางอียิปต์เองก็มีฐานบัญชาการอยู่ทางตอนใต้ในเมืองธีบส์ (Thebes) หรือลักซอร์ (Luxor) ปัจจุบัน ยุคนี้นักอียิปต์วิทยาแบ่งการปกครองออกเป็น 5 ราชวงศ์ด้วยกัน ให้ลำดับไว้ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 13 ถึงราชวงศ์ที่ 17 โดยที่เหล่าฟาโรห์แห่งฮิคซอสปกครองอยู่ทางตอนเหนือในช่วงราชวงศ์ที่ 15 และ 16 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเหล่าฟาโรห์แห่งธีบส์ก็ปกครองอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 17 หลังจากนั้นไม่นานนักฟาโรห์อาห์โมส (Ahmose) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 18 ก็สามารถปลดแอกอียิปต์ได้สำเร็จ

สุสานของฟาโรห์เซเนบคาอี หนึ่งในฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่สาบสูญ ที่มาของภาพ

พระนามของฟาโรห์ในช่วงรอยต่อระยะที่สองสูญหายไปเยอะมาก ไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่แสดงรายพระนามของฟาโรห์ในช่วงรอยต่อนี้เอาไว้อย่างชัดเจน แต่กระนั้นก็มีหลักฐานอยู่ชิ้นหนึ่งที่พอจะบอกนัยบางอย่างนั่นก็คือ 'จารึกแห่งตูริน' ที่ปรากฏพระนามของฟาโรห์ในช่วงนี้แบบคลุมเครือเอาไว้ถึง 16 พระองค์ด้วยกัน ประเด็นนี้นักอียิปต์วิทยานามว่า คิม ไรโฮล์ท (Kim Ryholt) ได้เสนอเอาไว้ในช่วงปี ค.ศ. 1997 ว่าพระนามของฟาโรห์ปริศนาทั้ง 16 พระองค์นั้นน่าจะเป็นฟาโรห์ที่ปกครองอยู่ที่นคร 'อไบดอส' ในช่วงประมาณ 1,650 ถึง 1,600 ปีก่อนคริสตกาล และไรโฮล์ทก็ได้ตั้งชื่อราชวงศ์ที่สาบสูญให้กับฟาโรห์ปริศนาเหล่านี้ว่า 'ราชวงศ์อไบดอส' (Abydos Dynasty) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใดสนับสนุนทฤษฎีของไรโฮล์ทได้เลย แต่ล่าสุดเมื่อต้นปี ค.ศ. 2014 นักอียิปต์วิทยาก็ค้นพบหลักฐานที่จะมาสนับสนุนถึงการมีอยู่จริงของราชวงศ์อไบดอสที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์จนได้

การขุดสำรวจทางตอนใต้ของ
อไบดอสเมื่อต้นปี ค.ศ. 2014 นำโดยทีมสำรวจของ ดร.โจเซฟ เวกเนอร์ (Dr.Josef Wegner) ได้ค้นพบสุสานของฟาโรห์ที่เสนอกันว่าพระองค์อยู่ในราชวงศ์ที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าบันทึกในประวัติศาสตร์ พระนามของพระองค์คือ 'อูเซอร์อิบเร-เซเนบคาอี' (Useribre-Senebkay) ฟาโรห์พระองค์นี้คือห่วงโซ่ที่หายไปของหลักฐานที่จะมาสนับสนุนแนวคิดเรื่อง 'ราชวงศ์อไบดอส' ของคิม ไรโฮล์ท ด้วยว่า ดร.เวกเนอร์เสนอว่า เซเนบคาอีน่าจะเป็นฟาโรห์พระองค์แรกๆ ของราชวงศ์อไบดอสที่ปกครองอยู่ในช่วงประมาณ 1,650 ปีก่อนคริสตกาล พระนามของพระองค์อาจจะปรากฏอยู่ในส่วนที่สูญหายออกไปจากรายพระนามฟาโรห์ 16 ชื่อที่เอกสารฉบับนี้ได้บันทึกเอาไว้ด้วยเช่นกัน

คาร์ทูชพระนามของฟาโรห์เขียนว่า'บุตรแห่งรา เซเนบคาอี'
ที่มาของภาพ

สุสานของฟาโรห์เซเนบคาอีมีทั้งหมด 4 ห้อง ในส่วนของห้องฝังพระศพสร้างจากหินปูน ประดับตกแต่งลวดลายไม่ค่อยฉูดฉาดมากเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่ามีองค์ประกอบที่ลงตัวทีเดียว ทีมสำรวจของดร.เวกเนอร์ค้นพบภาพสลักของเทพีนูต (Nut) ซึ่งเป็นเทพีแห่งท้องฟ้า พร้อมด้วยเทพีเนฟทิส (Nephthys), ไอซิส (Isis) และเซอร์เคต (Serket) ประทับอยู่ด้านข้างของสถูปคาโนปิกของฟาโรห์ นอกจากนั้นบนผนังห้องยังปรากฏพระนามของฟาโรห์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า 'กษัตริย์แห่งอียิปต์บนและอียิปต์ล่าง อูเซอร์อิบเร, โอรสแห่งรา เซเนบคาอี'

แต่สุสานของเซเนบคาอีไม่ได้สมบูรณ์ดังเช่นสุสานของยุวฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) ในสมัยที่โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1922 ข้าวของส่วนใหญ่ในสุสานของเซเนบคาอีก็ถูกโจรในสมัยโบราณเข้ามาปล้นและทำลายจนเสียหายไปหลายส่วน ที่น่าเสียดายก็คือ 'มัมมี่พระศพ' ของฟาโรห์เซเนบคาอีเองก็ไม่รอดพ้นจากฝีมือโจรร้ายด้วยเช่นกัน ทีมของดร.เวกเนอร์ให้ข้อสังเกตว่า เดิมทีพระศพของฟาโรห์เซเนบคาอีคงจะได้รับการทำมัมมี่เรียบร้อยดีตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่ด้วยว่ามีโจรเข้ามารุมทึ้งพระศพและฉกฉวยแย่งชิงของมีค่าออกไป จึงทำให้ในปัจจุบันพระศพของพระองค์หลงเหลือเพียงแค่กระดูกที่กระจัดกระจายไปทั่วท่ามกลางข้าวของเครื่องใช้ประกอบพิธีศพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากหรือหีบคาโนปิก แต่กระนั้นก็นับว่าโชคดีที่โครงกระดูกของเซเนบคาอียังคงหลงเหลืออยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนทำให้ทีมของดร.เวกเนอร์พอจะนำมาวิเคราะห์ตีความได้ว่าพระองค์น่าจะเป็นชายร่างสูงราว 175 เซนติเมตร และน่าจะสิ้นพระชนม์ในช่วงประมาณอายุ 35 ถึง 40 ปี

โครงกระดูกของฟาโรห์เซเนบคาอี บ่งบอกว่าพระองค์เป็นบุรุษร่างใหญ่ ตามร่างกายปรากฏบาดแผล 18 ตำแหน่ง สื่อว่าพระองค์
อาจจะสิ้นพระชนม์ระหว่างทำสงครามก็เป็นได้ ที่มาของภาพ

อีกหนึ่งหลักฐานที่ค้นพบในสุสานแห่งนี้ก็คือหีบคาโนปิกสำหรับใส่เครื่องในของฟาโรห์เซเนบคาอี เป็นที่น่าเสียดายด้วยว่าหีบดังกล่าวทำจากไม้สนซีดาร์ (Cedar) จึงเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาค่อนข้างมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงแสดงให้นักอียิปต์วิทยาได้เห็นอย่างเด่นชัดก็คือมันเป็นหีบของฟาโรห์องค์ก่อนที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ พฤติกรรมการใช้ของเก่าของฟาโรห์ในราชวงศ์อไบดอสเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจและในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดีว่าข้าวของวัสดุต่างๆ คงจะขาดแคลนเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้แม้แต่กระทั่งองค์ฟาโรห์เองก็ยังไม่สามารถหาวัสดุใหม่เอี่ยมอ่องมาใช้ในสุสานของตัวเองได้ นั่นจึงทำให้นักอียิปต์วิทยาสามารถตีความสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวอไบดอสในช่วงนี้ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

การค้นพบในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ที่เขย่าวงการอียิปต์วิทยาเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ เพราะมันช่วยให้นักอียิปต์วิทยาสามารถเข้าใจสถานภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุครอยต่อระยะที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยหลงเหลือหลักฐานสักเท่าใดนักได้เด่นชัดขึ้นเป็นอย่างมาก 

อีกทั้งยังพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของทฤษฎีที่ถูกเสนอเอาไว้โดย คิม ไรโฮล์ท เมื่อปี ค.ศ. 1997 เกี่ยวกับราชวงศ์อไบดอสที่ปกครองนครแห่งนี้ร่วมสมัยกับฟาโรห์แห่งธีบส์และฟาโรห์ชาวฮิคซอสที่อวาริสได้อีกด้วย ดร.เวกเนอร์เสนอว่า บริเวณทางใต้ของ อไบดอสที่เขากำลังขุดค้นอยู่นี้ หรือที่เรียกว่า 'ภูเขาอนูบิส' (Anubis-Mountain) ในอดีตนั้นน่าจะเป็นที่ตั้งนครสุสานของเหล่าฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ 

อีกทั้งยังหายออกไปจากจารึกรายพระนามแห่งตูรินด้วย และนั่นย่อมหมายความว่าการค้นพบนี้คือปฐมบทของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณหน้าใหม่ และถ้าทฤษฎีของดร.เวกเนอร์ถูกต้อง ใต้ผืนทรายของอไบดอสจะต้องมีสุสานของฟาโรห์อีกนับสิบพระองค์ที่เคยปรากฏพระนามอยู่ในจารึกแห่งตูรินฝังอยู่ด้วยเป็นแน่
สุดท้ายแล้วทฤษฎีใหม่ของดร.เวกเนอร์จะถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และราชวงศ์ที่สาบสูญของอียิปต์โบราณจะถูกเปิดเผยอย่างเต็มรูปแบบจากสุสานที่ยังไม่ถูกค้นพบใกล้ 'ภูเขาอนูบิส' หรือไม่ คำตอบยังคงรอคอยนักอียิปต์วิทยาอยู่ใต้ผืนทรายอันกว้างใหญ่ของประเทศอียิปต์อย่างแน่นอน

รายการบล็อกของฉัน