ดาราศาสตร์ดึกดำบรรพ์ของชาวมายาโบราณ
องค์ความรู้ของชาวมายาโบราณที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ปฏิทิน อักขระเฮียโรกลิฟฟิคและสถาปัตยกรรมทางด้านการก่อสร้างวิหารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนเกี่ยวพันกับสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ นั่นก็คือ 'ดาราศาสตร์'
นักโบราณคดียอมรับว่าชาวมายาโบราณเป็นนักดาราศาสตร์ที่เก่งกาจ พวกเขาสามารถสร้างวิหารและอาคารต่างๆ ให้สอดรับกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะดวงอาทิตย์ที่มักจะสร้างแสงและเงาต่างๆ ให้กับสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงดาวศุกร์ที่ชาวมายาโบราณนับถือในฐานะของสัญลักษณ์แห่งสงคราม ในครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าผลงานใดบ้างของชาวมายาโบราณที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผนวกองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์เข้ากับผลงานทางสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
วิหารเอล-คาราคอล หรือ 'หอยทาก' ในเมืองชิเชน อิทซา ที่มาของภาพ
ชนโบราณแต่ครั้งอดีตล้วนนับถือดวงอาทิตย์เป็นเทพเจ้า รวมถึงชาวมายาโบราณด้วยเช่นกัน พวกเขาเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏกายขึ้นจากขอบฟ้าฝั่งตะวันออกทุกวันและลับขอบฟ้าไปทางตะวันตกทุกวันด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ทว่ารวมถึง 'ตำแหน่ง' ในการปรากฏของดวงอาทิตย์เหนือขอบฟ้าที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลาของปีอีกด้วย ชาวมายาโบราณทราบดีว่าในช่วงระยะเวลา 1 ปีนั้น จะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับดวงสุริยาขึ้น 3 ปรากฏการณ์แต่รวมแล้ว 4 ครั้งในช่วงที่ตรงกับเดือนในปัจจุบันคือ มีนาคม, มิถุนายน, กันยายนและธันวาคม
ในช่วงวันที่ 21 เดือนมิถุนายนของทุกปีคือวัน 'ครีษมายัน' (Summer Solstice) เป็นจุดที่ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นทางด้านเหนือสุดของขอบฟ้าฝั่งทิศตะวันออกและเป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนตำแหน่งการปรากฏตัวของมันไปเรื่อยๆ โดยจะเคลื่อนตัวลงมาทางด้านทิศใต้ และเมื่อถึงประมาณวันที่ 21 กันยายน ก็จะถึงอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวัน
'ศารทวิษุวัต' (Autumnal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์ก็ยังคงเคลื่อนตัวลงไปทางทิศใต้มากขึ้น จนถึงประมาณวันที่ 21 ธันวาคม หรือวัน 'เหมายัน'
(Winter Solstice) ดวงอาทิตย์จะไม่เคลื่อนลงไปทางทิศใต้อีกแล้ว ทว่าจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางกลับมาทางทิศเหนือดังเดิม อีกทั้งยังเป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีอีกด้วย และเมื่อถึงประมาณวันที่ 21 มีนาคมดวงอาทิตย์ก็จะเข้าสู่วัน 'วสันตวิษุวัต' (Spring Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันอีกครั้ง วนเป็นวงรอบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทุกปี ดังนั้นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของ
ชาวมายาโบราณในหลากหลายเมือง ก็ล้วนแล้วแต่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ทั้งสี่วันนี้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นอาคารบางแห่งยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการเฝ้าสังเกตเส้นทางโคจรของดาวศุกร์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำสงครามอีกด้วย

แผนผังของวิหารเอล-คาราคอล แสดงให้เห็นว่าวิหารแห่งนี้ดูบิดเบี้ยว แถมยังไม่สมมาตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลทางด้านดาราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ที่มาของภาพ
กลุ่มอาคารแรกสุดของอารยธรรมมายาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณอย่างชัดเจนก็คืออาคารชื่อว่า 'เอล-คาราคอล' (El-Caracol) ซึ่งแปลว่า 'หอยทาก' ในภาษาสเปน อาคารนี้ตั้งอยู่ในเมืองชิเชน อิทซา (Chichen Itza) แถบคาบสมุทรยูคาทาน เป็นหนึ่งในนครที่รุ่งเรืองอยู่ในยุคหลังคลาสสิก (Post-Classic Period) ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 900 เมื่อลองดูที่โครงสร้างของอาคารแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าสถาปนิกชาวมายาเขาเมาโกโก้ระหว่างกำลังออกแบบหรือเปล่า?
เพราะอาคารที่สร้างออกมานั้นมันช่างดูบิดเบี้ยว ฐานก็ไม่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสดี บันไดที่สร้างเอาไว้ก็ไม่สมมาตร แต่แท้ที่จริงแล้วความจริงที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังความแปลกประหลาดของโครงสร้างแห่งอาคาร 'หอยทาก' นี้ก็คือมันทำหน้าที่ประหนึ่ง 'หอดูดาว' ที่ใช้ในการสังเกตเทหวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้าต่างหากล่ะ
เช่นแท่นยกพื้นของวิหารที่ทำมุมสุดพิลึกนั้น แท้ที่จริงแล้วต้องการให้ชี้ไปยังจุดที่ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นในตอนเช้าของวันครีษมายัน ขั้นบันไดชุดหนึ่งชี้ไปยังเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่ผ่านจุดจอมฟ้า (Zenith Passage) ของเมืองชิเชน อิทซา นอกจากนั้นแล้วขั้นบันไดอีกชุดหนึ่งยังเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ โดยแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางด้านทิศเหนือที่สุดของดาวศุกร์บนท้องฟ้าซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวในรอบ 8 ปีเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วหน้าต่างและประตูอีกหลายบานของอาคาร 'เอล-คาราคอล' ยังเชื่อมโยงกับตำแหน่งต่างๆ ของดวงอาทิตย์และดวงดาวอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้น
นักดาราศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าหน้าต่างบานใดจะเกี่ยวข้องกับดวงดาวใดบ้าง เพราะอาคารนี้สร้างขึ้นมายาวนานนับพันปีแล้ว ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 906 อีกทั้งตำแหน่งของดวงดาวยังเคลื่อนไปหนึ่งองศาทุกๆ 72 ปีอีกด้วย นั่นจึงทำให้ตำแหน่งของดวงดาวในปัจจุบันอาจจะไม่สอดคล้องตรงกันกับตำแหน่งของดวงดาวในอดีตที่ชาวมายาโบราณในนครชิเชน อิทซาเคยสังเกตเห็นเสมอไป
เงาที่เกิดขึ้นบริเวณราวระเบียงพีระมิดเอล-คาสติลโญในวันวิษุวัตดูคล้ายอสรพิษยักษ์ที่กำลังเลื้อยไปตามขั้นบันไดขององค์พีระมิด ที่มาของภาพ
อีกหนึ่งอาคารของชาวมายาโบราณในเมืองชิเชน อิทซา ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือพีระมิด 'เอล-คาสติลโญ' (El-Castillo) อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ของโลกที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับไปเมื่อปี ค.ศ. 2007 นั่นเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วิหารชิเชน อิทซานี้เกี่ยวข้องกับ 'เงา' นั่นหมายความว่าต้องสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์เป็นแน่ นักโบราณคดีเรียกการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับปรากฏการณ์ธรรมชาติว่า
'เฮียโรฟานี' (Hierophany) และปรากฏการณ์ที่ว่านั้นก็จะเกิดขึ้นที่ขั้นบันไดของมหาพีระมิดแห่งชิเชนอิทซาที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าอสรพิษขนนกนี้เอง
ด้วยว่าเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้าไปในวันวิษุวัตทั้งสองครั้งในรอบปีนั้น จะเกิด 'เงา' ของอสรพิษขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นบริเวณราวระเบียงของขั้นบันได ประหนึ่งว่ามีงูยักษ์กำลังเลื้อยลงมาตามขั้นบันไดนั้นก็ไม่ปาน โดยที่บริเวณปลายด้านล่างของบันไดได้มีภาพสลักเศียรงูยักษ์รอท่าอยู่ด้วยเช่นกัน นักโบราณคดียังคงตั้งคำถามกันว่านี่จะเป็นความตั้งใจของชาวมายาโบราณหรือไม่ หรือว่านี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะแค่ 'ความบังเอิญ' เท่านั้นกันแน่?
นอกจากอาคารที่ทำหน้าที่เป็นหอดูดาว หรือการสร้างปรากฏการณ์เฮียโรฟานีได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว ชาวมายาโบราณยังได้สร้างสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์โดยให้ทำงานเป็น 'กลุ่ม' อีกด้วยในปัจจุบัน นักโบราณคดีเรียกขานกลุ่มอาคารนั้นว่า 'กลุ่ม-อี'
(E-Group) และกลุ่มอาคารที่ว่านี้ตั้งอยู่ที่เมือง 'วาชัคตุน' (Uaxactun) ห่างออกมาจากนครโบราณอย่างติกัล (Tikal) ขึ้นมาทางเหนือเพียงแค่ราว 19 กิโลเมตรเท่านั้น
กลุ่มโครงสร้างหลักๆ ของอาคาร 'กลุ่ม-อี' นั้นมีด้วยกันสี่อาคาร อาคารทางเหนือเรียกว่า 'วิหาร อี-1' (Temple E-I) อาคารทางทิศใต้เรียกว่า 'วิหาร อี-3' (Temple E-III) และอาคารที่ตั้งอยู่ตรงกลางเรียกว่า 'วิหาร อี-2' (Temple E-II) ทั้งสามวิหารนี้ตั้งอยู่บนแท่นยกพื้นยาวแห่งเดียวกัน ห่างออกไปจะมีวิหารอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า 'วิหาร อี-7' (Temple E-VII) และเมื่อชาวมายาโบราณมองกลุ่มวิหารสามแห่งจากวิหาร อี-7 ก็จะพบว่าวิหารทั้งสามแห่งสัมพันธ์กับวันสำคัญต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่วิหาร อี-1 นั้นจะสัมพันธ์กับวันครีษมายัน วิหาร อี-2 สัมพันธ์กับวันวิษุวัตทั้งสองวัน และวิหาร อี-3 สัมพันธ์กับวันเหมายันนั่นเอง
แผนผังแสดงความสัมพันธ์ของวิหาร 'กลุ่ม-อี' ในเมืองวาชัคตุนที่เชื่อมโยงกับวันครีษมายัน วันเหมายันและวันวิษุวัต ที่มาของภาพ
นอกจากนั้น อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ขององค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในปัจจุบันทึ่งได้ไม่แพ้กัน ก็คือชาวมายาโบราณสามารถคำนวณปีทางสุริยคติได้แม่นยำเป็นอย่างมาก ด้วยว่าชาวมายาโบราณมีระบบปฏิทินหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นเรียกว่าปฏิทินแบบ 'ฮาบ' (Haab’) ซึ่งเป็นปฏิทินที่มีจำนวนวันในหนึ่งปีเท่ากับตัวเลขที่เราใช้กันในปัจจุบัน(โดยไม่มีปีอธิกสุรทิน) พวกเขาได้กำหนดให้ 1 ปีในปฏิทินแบบฮาบนั้นมีทั้งหมด 365 วัน และในปี ค.ศ. 1906
นักมายันวิทยานามว่า 'ชาร์ลส์ พี. โบวดิทช์' (Charles P. Bowditch) ได้ค้นพบหลักฐานว่าชาวมายาโบราณได้ระบุว่าระยะเวลา 1,508 ฮาบ เท่ากับ 1,507 ปีทางสุริยคติ โดยที่ 1,508 ฮาบ มีจำนวนวันเท่ากับ 1,508 x 365 = 550,420 วัน และนั่นหมายความว่าสำหรับชาวมายาโบราณแล้ว หนึ่งปีสุริยคติของพวกเขามีจำนวนวันทั้งหมด 550,420/1,507 = 365.2422 วัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขที่นักวิชาการในปัจจุบันให้เอาไว้ที่ 365.24219 วันเป็นอย่างมากเลยทีเดียว!
ในปัจจุบัน นักโบราณคดีและนักมายันวิทยาเพิ่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจชาวมายาโบราณมาได้เพียงแค่ราว 120 ปีเท่านั้น แต่เราก็ยังค้นพบความน่าทึ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของชาวมายาโบราณอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า ในอนาคตข้างหน้านี้ นักโบราณคดีต้องค้นพบองค์ความรู้สุดอัศจรรย์ของชาวมายาโบราณอีกนับไม่ถ้วนอย่างแน่นอน.