Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

ตามหา ราชวงศ์ที่สาบสูญ ของอียิปต์โบราณ


ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตำราประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณแทบทุกเล่มจะแบ่งราชวงศ์ของเหล่าฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ออกเป็น 33 ราชวงศ์คล้ายๆ กัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านักอียิปต์วิทยาค้นพบหลักฐานของฟาโรห์หรือราชวงศ์ในอียิปต์โบราณครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดระยะเวลากว่า 3,000 ปีของหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์แต่อย่างใด แน่นอนว่ายังคงมีฟาโรห์อีกหลายพระองค์ที่ปรากฏเพียงแค่ 'พระนาม' ในเอกสารโบราณโดยไม่มีหลักฐานอื่นประกอบเลยแม้แต่น้อย และนักอียิปต์วิทยาส่วนหนึ่งก็จัดฟาโรห์ปริศนาเหล่านั้นเอาไว้ในราชวงศ์ที่ไม่ได้อยู่ในตำราประวัติศาสตร์กระแสหลัก นี่คือปฐมบทของ 'ราชวงศ์ที่สาบสูญ'
แห่งอียิปต์โบราณที่เราจะไปตามหากันในครั้งนี้

จารึกแห่งตูรินคือหนึ่งในเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่กี่ชิ้นที่บันทึกถึงพระนามของฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่สาบสูญ ที่มาของภาพ


แหล่งข้อมูลสำคัญที่นักอียิปต์วิทยาใช้ระบุพระนามของฟาโรห์รวมทั้งปีการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ก็คือบันทึกจากนักประวัติศาสตร์ในอดีตอย่างเช่น มาเนโธ (Manetho) ที่เป็นผู้จัดแบ่งราชวงศ์อียิปต์โบราณออกเป็น 30 ราชวงศ์หลักๆ พร้อมระบุพระนามเอาไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน หรือ แผ่นศิลาพาเลอร์โม (Palermo Stone) ที่บันทึกรายพระนามของฟาโรห์ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 1 ถึงราชวงศ์ที่ 5 ตอนต้นเอาไว้ รวมถึงรายพระนามของฟาโรห์ 76 พระองค์ที่จารึกเรียงต่อกันตั้งแต่ เมเนส (Menes) ซึ่งอาจจะเป็นฟาโรห์องค์เดียวกันกับนาร์เมอร์ ร่ายยาวมาจนถึงพระนามของฟาโรห์เซติที่ 1 (Sety I) ในวิหารแห่งเทพโอซิริส (Osiris) ที่นครอไบดอส (Abydos) ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น “จารึกแห่งตูริน” (Turin Canon) เป็นแน่แท้ ด้วยว่านี่คือเอกสารที่บันทึกในสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 แสดงให้เห็นพระนามและจำนวนปีการครองราชย์ของฟาโรห์พระองค์ต่างๆ มากกว่า 76 พระองค์ที่ถูกจารึกเอาไว้บนผนังวิหารของฟาโรห์เซติที่ 1 เสียอีก

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวอียิปต์โบราณเองก็ไม่ได้บันทึกพระนามฟาโรห์ของพวกเขาเอาไว้อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุครอยต่อ (Intermediate Period) ทั้งสามครั้งที่อียิปต์แตกออกเป็นสองส่วน การปกครองแตกออกไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ยิ่งทำให้นักอียิปต์วิทยารวบรวมและเรียบเรียงรายพระนามของฟาโรห์ในช่วงนี้ได้ยากยิ่ง หนึ่งในช่วงรอยต่อที่ยุ่งเหยิงที่สุดก็คือรอยต่อระยะที่สอง ซึ่งอียิปต์ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกฮิคซอส (Hyksos) ที่ปกครองอยู่ในนครอวาริส (Avaris) ทางตอนเหนือ ส่วนทางอียิปต์เองก็มีฐานบัญชาการอยู่ทางตอนใต้ในเมืองธีบส์ (Thebes) หรือลักซอร์ (Luxor) ปัจจุบัน ยุคนี้นักอียิปต์วิทยาแบ่งการปกครองออกเป็น 5 ราชวงศ์ด้วยกัน ให้ลำดับไว้ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 13 ถึงราชวงศ์ที่ 17 โดยที่เหล่าฟาโรห์แห่งฮิคซอสปกครองอยู่ทางตอนเหนือในช่วงราชวงศ์ที่ 15 และ 16 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเหล่าฟาโรห์แห่งธีบส์ก็ปกครองอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 17 หลังจากนั้นไม่นานนักฟาโรห์อาห์โมส (Ahmose) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 18 ก็สามารถปลดแอกอียิปต์ได้สำเร็จ

สุสานของฟาโรห์เซเนบคาอี หนึ่งในฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่สาบสูญ ที่มาของภาพ

พระนามของฟาโรห์ในช่วงรอยต่อระยะที่สองสูญหายไปเยอะมาก ไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่แสดงรายพระนามของฟาโรห์ในช่วงรอยต่อนี้เอาไว้อย่างชัดเจน แต่กระนั้นก็มีหลักฐานอยู่ชิ้นหนึ่งที่พอจะบอกนัยบางอย่างนั่นก็คือ 'จารึกแห่งตูริน' ที่ปรากฏพระนามของฟาโรห์ในช่วงนี้แบบคลุมเครือเอาไว้ถึง 16 พระองค์ด้วยกัน ประเด็นนี้นักอียิปต์วิทยานามว่า คิม ไรโฮล์ท (Kim Ryholt) ได้เสนอเอาไว้ในช่วงปี ค.ศ. 1997 ว่าพระนามของฟาโรห์ปริศนาทั้ง 16 พระองค์นั้นน่าจะเป็นฟาโรห์ที่ปกครองอยู่ที่นคร 'อไบดอส' ในช่วงประมาณ 1,650 ถึง 1,600 ปีก่อนคริสตกาล และไรโฮล์ทก็ได้ตั้งชื่อราชวงศ์ที่สาบสูญให้กับฟาโรห์ปริศนาเหล่านี้ว่า 'ราชวงศ์อไบดอส' (Abydos Dynasty) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใดสนับสนุนทฤษฎีของไรโฮล์ทได้เลย แต่ล่าสุดเมื่อต้นปี ค.ศ. 2014 นักอียิปต์วิทยาก็ค้นพบหลักฐานที่จะมาสนับสนุนถึงการมีอยู่จริงของราชวงศ์อไบดอสที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์จนได้

การขุดสำรวจทางตอนใต้ของ
อไบดอสเมื่อต้นปี ค.ศ. 2014 นำโดยทีมสำรวจของ ดร.โจเซฟ เวกเนอร์ (Dr.Josef Wegner) ได้ค้นพบสุสานของฟาโรห์ที่เสนอกันว่าพระองค์อยู่ในราชวงศ์ที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าบันทึกในประวัติศาสตร์ พระนามของพระองค์คือ 'อูเซอร์อิบเร-เซเนบคาอี' (Useribre-Senebkay) ฟาโรห์พระองค์นี้คือห่วงโซ่ที่หายไปของหลักฐานที่จะมาสนับสนุนแนวคิดเรื่อง 'ราชวงศ์อไบดอส' ของคิม ไรโฮล์ท ด้วยว่า ดร.เวกเนอร์เสนอว่า เซเนบคาอีน่าจะเป็นฟาโรห์พระองค์แรกๆ ของราชวงศ์อไบดอสที่ปกครองอยู่ในช่วงประมาณ 1,650 ปีก่อนคริสตกาล พระนามของพระองค์อาจจะปรากฏอยู่ในส่วนที่สูญหายออกไปจากรายพระนามฟาโรห์ 16 ชื่อที่เอกสารฉบับนี้ได้บันทึกเอาไว้ด้วยเช่นกัน

คาร์ทูชพระนามของฟาโรห์เขียนว่า'บุตรแห่งรา เซเนบคาอี'
ที่มาของภาพ

สุสานของฟาโรห์เซเนบคาอีมีทั้งหมด 4 ห้อง ในส่วนของห้องฝังพระศพสร้างจากหินปูน ประดับตกแต่งลวดลายไม่ค่อยฉูดฉาดมากเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่ามีองค์ประกอบที่ลงตัวทีเดียว ทีมสำรวจของดร.เวกเนอร์ค้นพบภาพสลักของเทพีนูต (Nut) ซึ่งเป็นเทพีแห่งท้องฟ้า พร้อมด้วยเทพีเนฟทิส (Nephthys), ไอซิส (Isis) และเซอร์เคต (Serket) ประทับอยู่ด้านข้างของสถูปคาโนปิกของฟาโรห์ นอกจากนั้นบนผนังห้องยังปรากฏพระนามของฟาโรห์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า 'กษัตริย์แห่งอียิปต์บนและอียิปต์ล่าง อูเซอร์อิบเร, โอรสแห่งรา เซเนบคาอี'

แต่สุสานของเซเนบคาอีไม่ได้สมบูรณ์ดังเช่นสุสานของยุวฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) ในสมัยที่โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1922 ข้าวของส่วนใหญ่ในสุสานของเซเนบคาอีก็ถูกโจรในสมัยโบราณเข้ามาปล้นและทำลายจนเสียหายไปหลายส่วน ที่น่าเสียดายก็คือ 'มัมมี่พระศพ' ของฟาโรห์เซเนบคาอีเองก็ไม่รอดพ้นจากฝีมือโจรร้ายด้วยเช่นกัน ทีมของดร.เวกเนอร์ให้ข้อสังเกตว่า เดิมทีพระศพของฟาโรห์เซเนบคาอีคงจะได้รับการทำมัมมี่เรียบร้อยดีตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่ด้วยว่ามีโจรเข้ามารุมทึ้งพระศพและฉกฉวยแย่งชิงของมีค่าออกไป จึงทำให้ในปัจจุบันพระศพของพระองค์หลงเหลือเพียงแค่กระดูกที่กระจัดกระจายไปทั่วท่ามกลางข้าวของเครื่องใช้ประกอบพิธีศพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากหรือหีบคาโนปิก แต่กระนั้นก็นับว่าโชคดีที่โครงกระดูกของเซเนบคาอียังคงหลงเหลืออยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนทำให้ทีมของดร.เวกเนอร์พอจะนำมาวิเคราะห์ตีความได้ว่าพระองค์น่าจะเป็นชายร่างสูงราว 175 เซนติเมตร และน่าจะสิ้นพระชนม์ในช่วงประมาณอายุ 35 ถึง 40 ปี

โครงกระดูกของฟาโรห์เซเนบคาอี บ่งบอกว่าพระองค์เป็นบุรุษร่างใหญ่ ตามร่างกายปรากฏบาดแผล 18 ตำแหน่ง สื่อว่าพระองค์
อาจจะสิ้นพระชนม์ระหว่างทำสงครามก็เป็นได้ ที่มาของภาพ

อีกหนึ่งหลักฐานที่ค้นพบในสุสานแห่งนี้ก็คือหีบคาโนปิกสำหรับใส่เครื่องในของฟาโรห์เซเนบคาอี เป็นที่น่าเสียดายด้วยว่าหีบดังกล่าวทำจากไม้สนซีดาร์ (Cedar) จึงเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาค่อนข้างมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงแสดงให้นักอียิปต์วิทยาได้เห็นอย่างเด่นชัดก็คือมันเป็นหีบของฟาโรห์องค์ก่อนที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ พฤติกรรมการใช้ของเก่าของฟาโรห์ในราชวงศ์อไบดอสเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจและในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดีว่าข้าวของวัสดุต่างๆ คงจะขาดแคลนเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้แม้แต่กระทั่งองค์ฟาโรห์เองก็ยังไม่สามารถหาวัสดุใหม่เอี่ยมอ่องมาใช้ในสุสานของตัวเองได้ นั่นจึงทำให้นักอียิปต์วิทยาสามารถตีความสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวอไบดอสในช่วงนี้ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

การค้นพบในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ที่เขย่าวงการอียิปต์วิทยาเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ เพราะมันช่วยให้นักอียิปต์วิทยาสามารถเข้าใจสถานภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุครอยต่อระยะที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยหลงเหลือหลักฐานสักเท่าใดนักได้เด่นชัดขึ้นเป็นอย่างมาก 

อีกทั้งยังพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของทฤษฎีที่ถูกเสนอเอาไว้โดย คิม ไรโฮล์ท เมื่อปี ค.ศ. 1997 เกี่ยวกับราชวงศ์อไบดอสที่ปกครองนครแห่งนี้ร่วมสมัยกับฟาโรห์แห่งธีบส์และฟาโรห์ชาวฮิคซอสที่อวาริสได้อีกด้วย ดร.เวกเนอร์เสนอว่า บริเวณทางใต้ของ อไบดอสที่เขากำลังขุดค้นอยู่นี้ หรือที่เรียกว่า 'ภูเขาอนูบิส' (Anubis-Mountain) ในอดีตนั้นน่าจะเป็นที่ตั้งนครสุสานของเหล่าฟาโรห์แห่งราชวงศ์อไบดอสที่หายสาบสูญออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ 

อีกทั้งยังหายออกไปจากจารึกรายพระนามแห่งตูรินด้วย และนั่นย่อมหมายความว่าการค้นพบนี้คือปฐมบทของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณหน้าใหม่ และถ้าทฤษฎีของดร.เวกเนอร์ถูกต้อง ใต้ผืนทรายของอไบดอสจะต้องมีสุสานของฟาโรห์อีกนับสิบพระองค์ที่เคยปรากฏพระนามอยู่ในจารึกแห่งตูรินฝังอยู่ด้วยเป็นแน่
สุดท้ายแล้วทฤษฎีใหม่ของดร.เวกเนอร์จะถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และราชวงศ์ที่สาบสูญของอียิปต์โบราณจะถูกเปิดเผยอย่างเต็มรูปแบบจากสุสานที่ยังไม่ถูกค้นพบใกล้ 'ภูเขาอนูบิส' หรือไม่ คำตอบยังคงรอคอยนักอียิปต์วิทยาอยู่ใต้ผืนทรายอันกว้างใหญ่ของประเทศอียิปต์อย่างแน่นอน

รายการบล็อกของฉัน