Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

8 วิธีง่ายๆข้อแนะนำในการทำความดี

ภายใต้ชื่อ "ทำดีเพื่อพ่อ" ซึ่งใน โครงการได้จัดทำหนังสือชื่อว่าทำดีเพื่อพ่อ แนะนำ 8 วิธีง่ายๆ ในการทำดีโดยเริ่มจากตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และสามารถทำได้ทุกวัน สรุปได้ดังนี้.-
วิธีที่ 1 ร่างกายแข็งแรง
วิธีที่ 2 ทำใจให้เป็นสุข
วิธีที่ 3 ความรักครอบครัวและคนใกล้ตัว
วิธีที่ 4 อาสาช่วยเหลือสังคม
วิธีที่ 5 ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
วิธีที่ 6 ปลูกต้นไม้ถวายเป็นพระราชกุศล
วิธีที่ 7 พอเพียง ประหยัด และอดออม
วิธีที่ 8 รู้จักการให้และบริจาค

ข้อแนะนำในการทำความดี

- เป็นความจริงที่พวกเราต้องยอมรับว่า บางคนอยากจะทำความดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำความดีได้อย่างไร เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างอัตคัด คือ ขัดสน ขาดแคลน ฝืดเคือง หรือยากจนในทรัพย์สินเงินทองเป็นอย่างมาก

- ในเรื่องนี้ ก็ขอเรียนว่า การทำความดี ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองเลยก็ได้ แม้จนในทรัพย์สิน แต่ผู้นั้นอาจเป็นผู้ร่ำรวยในน้ำใจอย่างยิ่งใหญ่มหาศาลก็ได้ และอาจเป็นผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้กตัญญูรู้คุณอย่างเยี่ยมยอด หรือยอดกตัญญูก็เป็นไปได้เช่นกัน

- การทำความดี จะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นสำคัญ หากกระทำการสิ่งใดๆ ลงไปก็ดี ถ้าเรารู้สึกเต็มใจ อิ่มใจ ก็ย่อมปลื้มปิติกับสิ่งที่เราทำ และเราก็ได้บุญกุศลจากกรรมดีของเรา ไม่ยิ่งหย่อน และอาจมากกว่าการทำความดีด้วยทรัพย์สินเงินทองด้วยซ้ำไป ก็มีมากหลาย

- การทำความดีด้วยน้ำใจนั้น ทำได้ง่าย และ ทำได้ทันที ถ้ามีโอกาสคราวใดต้องแสดงความมีน้ำใจต่อผู้อื่นทันที ยกตัวอย่าง เช่น ภายในบ้านที่อยู่อาศัย หรือสถานที่พักของเรา จะต้องทราบว่ามีใครอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ ผู้ที่เราอยู่ร่วมด้วยนั้น จะเป็นใครก็ตาม เราต้องตั้งหลักยืดมั่นว่า เราจะต้องหาทุกวิถีทาง ที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่คนภายในบ้านของเราให้มากที่สุด ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเหนือกว่าเรา หรือเท่าเทียมกับเรา หรือต่ำกว่าเราก็ตาม เราจะต้องช่วยเหลือเขา ช่วยงานของเขา ช่วยลดภาระให้แก่คนอื่น โดยเข้าช่วยรับภาระแทน อาทิ ช่วยเก็บสิ่งสกปรกทิ้ง ช่วยรักษาความสะดาด ช่วยทำความสะอาดสิ่งต่างๆ เท่าที่เราสามารถเข้าช่วยได้ในทุกโอกาส หรือแสดงความมีน้ำใจ โดยการยิ้มแย้มเข้าหาเขา ทักทายปราศรัยเขา ข่มสติอารมณ์มิให้โกรธ มิใช้พลุ่งพล่าน เมื่อเขาทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเรา และให้อภัยแก่ความไม่รู้ และความโง่งมของคนอื่น ที่หลงผิดทำสิ่งที่ไม่ดี โดยคิดอยู่แต่ในใจ ห้ามปริปากบอกเขาว่าให้อภัยในความโง่ของเขา เพราะจะกลายเป็นการสร้างอารมณ์ให้เกิดการทะเลาะกัน จะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ไปทะเลาะกับใคร หลีกเลี่ยงการพูดจากระทบกระแทกแดกดัน หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรู โดยมีการข่มใจ มีความอดทน และอดกลั้นในสิ่งที่ไม่ดี ที่มากระทบอารมณ์ของเรา ให้คิดว่าทุกคน เป็นเสมือนญาติมิตรที่มีบุญคุณต่อเรามาก่อนทั้งสิ้น แม้จะมีหรือไม่มีญาติมิตรในชาติปัจจุบันก็ตาม เป็นวิธีการสร้างฐานความคิดที่เราจะเป็นมิตรได้กับทุกคน สามารถให้อภัยเขาได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันอีกต่อไป

- ประการสำคัญ เราต้องคิดเสมอว่า ผู้มีบุญคุณของเรา เขาชอบอะไร เราจะต้องพยายามทำในสิ่งที่เขาชอบ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สุจริต เป็นสิ่งที่ไม่เกลือกกลั้วกับอบายมุขทุกประเภท เป็นสิ่งที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเขาด้วย หากมีสติคิดได้ด้วยปัญญาว่า “เราจะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด แต่จะทำสิ่งที่ดี ที่สร้างความสุขใจให้แก่ผู้อื่นเป็นสำคัญ” คิดได้เช่นนี้ต้องลงมือทำในทันที ในการทำในทุกกิจกรรม จะต้องคำนึงเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเสมอ

- โดยเฉพาะท่านที่ยังมีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือผู้มีพระคุณที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หากอยู่อาศัยด้วยกัน จะต้องพยายามแสดงความมีน้ำใจ ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือการกระทำ ต้องแสดงความมีน้ำใจด้วยปฏิบัติบูชา ทำแต่สิ่งที่ดีๆ ให้แก่ท่าน ถ้าท่านเกลือกกลั้วกับอบายมุข ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ชอบไม่ถูกกฎหมาย ก็ต้องพยายามเชิญชวนชักนำท่านให้ออกจากอบายมุข หรือสิ่งที่ไม่ดีนั้นๆ อาจหาหนังสือธรรมะเล่มบางๆ ไปวางทิ้งให้ท่านอ่าน วันนี้ไม่อ่าน พรุ่งนี้อาจอ่าน พรุ่งนี้ไม่อ่าน สัปดาห์หน้าอาจอ่าน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ท่านมีอารมณ์ดีจะต้องหาโอกาสแนะนำเรื่องกฎแห่งกรรม การกระทำเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็นการกตัญญูกตเวทีอีกวิธีหนึ่ง

- แต่ ถ้าท่านโชคดี ไม่มีบุคคลในครอบครัวของท่าน ที่เข้าไปเกลือกกลั้วกับอบายมุข ไม่มีใครกระทำการสิ่งที่ผิดกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม ท่านก็เพียงต้องประคอง และรักษาน้ำใจของท่านเหล่านั้น โดยต้องคิดให้ดี มีสติให้มั่นคงว่า เราจะทำทุกอย่างที่ดีๆ ให้ท่านมีความพอใจ จะต้องพยายามทำสิ่งที่ดีๆ ที่ท่านชอบ จะไม่โต้เถียงหรือโต้แย้ง จะไม่ชี้แจงเรื่องใดๆ ในเวลาที่ท่านมีอารมณ์โกรธ เพราะการชี้แจงเรื่องใดๆ แม้จะดี แม้จะถูกต้อง ก็ห้ามกระทำ ในเวลาที่ท่านมีอารมณ์โกรธ เพราะเมื่อมีโมหะจิต มีโกรธะจิต ย่อมบดบังปัญญาไปโดยสิ้นเชิง ไม่ควรใช้เหตุผลใดๆ ในขณะที่ท่านมีอารมณ์เสียเป็นอันขาด โดยเฉพาะบุคคลที่มีบุญคุณแก่ตัวของเรา หลังจากอารมณ์ท่านเย็น อารมณ์โกรธของท่านหายไปเมื่อไร
ค่อยหาจังหวะเข้าไปอธิบายเหตุผลและความ ถูกต้องให้ฟัง ซึ่งในช่วงเวลาที่ความโกรธหายไป ก็เหมือนความบ้าหายไป สติและปัญญาของท่านก็จะคืนกลับมา ช่วงเวลานี้เท่านั้นที่เหมาะที่สุดในการชี้แจงเหตุผลและความถูกต้องให้ท่าน ทราบและเกิดความเข้าใจ

- โปรดตระหนักทุกเวลาว่า “เหตุผลและความถูกต้องเป็นจริง” จะใช้ได้ในช่วงเวลาที่บุคคลผู้ฟัง มีสติสัมปชัญญะ และมีปัญญาอยู่กับตัวเท่านั้น ห้ามใช้กับบุคคลที่อยู่ในช่วงมีอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด ผู้ใดใครก็ตามที่อยู่ในอารมณ์โกรธ หรือมีความไม่พอใจเรื่องใดๆ ก็ตาม เราจะต้องตั้งฐานแห่งจิตของเราให้ได้ว่า ขณะนั้นมีผีร้ายสิ่งท่านอยู่ ขณะนั้นท่านอยู่ในภาวะขาดสติช่วงเวลานั้นท่านกำลังเป็นบ้า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ควรแก่การชี้แจงทั้งสิ้น วิธีการทำความดีในช่วงเวลาขณะนั้น คือต้องไม่ชี้แจงเหตุผล และความถูกต้องเป็นจริง หากจะพูดก็พูดเตือนสติว่าอาจเกิดผลเสียหายได้ พูดสั้นๆ แล้วปิดปากให้สนิท ไม่ต้องพูดอะไรอีก โดยให้ทำตามที่ท่านต้องการ ทำในสิ่งที่ท่านพอใจ นี่แหละคือการทำความดี โดยใช้ความอดทน ความอดกลั้น และการข่มใจของตนเองในการไม่ทำให้ผู้มีพระคุณเสียใจ หรือไม่สบายใจ หรือมีความทุกข์ใจ / เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะผู้มีพระคุณของเราที่มีอายุมาก โดยทั่วไป ผู้ที่มีอายุมาก หรือเข้าสู่วัยชรา รวมทั้งผู้ที่กำลังป่วยเจ็บมักจะมีความแปรปรวนทางจิต และอาจกลับกลายเป็นเด็กทารกขี้น้อยใจ เอาแต่ใจตนเองมากขึ้น บางครั้งอาจถึงกับร้องไห้ เมื่อไม่ได้ตามที่ตนต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องเข้าใจถึงผู้ที่ย่างเข้าวัยชรา ผู้ที่อยู่ในช่วงป่วยเจ็บ หรือมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ จะต้องรักษาถนอมน้ำใจของท่านให้มากเป็นพิเศษ

หากเราทำได้เช่นนี้ ก็ถือว่า ได้ทำความดี มีความกตัญญูกตเวที ที่ดีเป็นอย่างมากแล้ว
เรียบเรียงข้อมูลใหม่โดย manman

รายการบล็อกของฉัน