ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสภาพผิวด้วย
กรุงเทพ ฯ และปริมณฑลยังคงปกคลุมไปด้วยฝุ่นละออง PM 2.5 งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่านอกจากฝุ่นละอองจะสามารถผ่านเข้าไปในร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ แล้วยังสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนัง และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้อีกด้วย
กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า วันนี้ (16 ม.ค.) ณ เวลา 7.00 น. ค่าฝุ่นละอองบริเวณริมถนนเฉลี่ยแล้วอยู่ระหว่าง 37 - 73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยรวมนั้นสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากถึง 18 พื้นที่ เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน และ ริมถนนดินแดง เป็นต้น
นอกจากฝุ่นขนาดจิ๋วเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านการหายใจจนเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกล่าวว่า PM 2.5 สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น หืดหอบ มีอาการกำเริบ และในระยะยาวจะส่งผลให้ปอดทำงานถดถอย จนอาจก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอด
ทว่าไม่ใช่เพียงผลกระทบที่มีต่อสุขภาวะของประชาชนเท่านั้น แต่งานวิจัยจากต่างประเทศหลายชิ้นและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังสามารถแทรกผ่านผิวหนังแล้วเข้าไปทำร้ายเซลล์ผิวและความงามบนในหน้าได้อีกด้วย
ตื่นตัวมานานแล้ว
"เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อปี 2560 แล้ว ตื่นตัวมาตั้งแต่ตอนนั้น" ชนกชนม์ เฉลิมชุติเดช นักศึกษาวัย 24 ปี จากมหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เธอต้องเผชิญ
"น้ำมูกไหลเป็นสีใส ๆ ตลอด เริ่มแสบตา และเป็นสิวผดด้วยทั้งที่ปกติไม่ค่อยเป็น"
"น้ำมูกไหลเป็นสีใส ๆ ตลอด เริ่มแสบตา และเป็นสิวผดด้วยทั้งที่ปกติไม่ค่อยเป็น"
สุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงและโรคภูมิแพ้ฝุ่นละอองของชนกชนม์ ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น อีกทั้งถ้าเจอฝุ่น เธอก็ยังรู้สึกคันคอ มีเสมหะ และไอเรื้อรังนานเป็นเดือนแม้จะไม่มีไข้หวัดก็ตาม นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า ผิวที่ปลายจมูกก็ลอกด้วยเพราะต้องเช็ดน้ำมูกบ่อยครั้ง
ใส่ผ้าปิดปากตลอดเวลาออกไปไหน และพยายามอยู่บริเวณที่โล่งให้น้อยที่สุด พอกลับถึงบ้านก็จะล้างหน้าเลย และล้างจมูกด้วย" ชนกชนม์กล่าวถึงวิธีการดูแลตัวเอง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่นของภาครัฐ เธอบอกบีบีซีไทยว่า "ถ้ามันได้ผลก็คงไม่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2562 นี้หรอกมั้ง เรายังเห็นว่าหมอกลงทุกวัน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาแก้ยังไง เพราะสำหรับเรามันไม่มีผลเลย"
ทั้งนี้ องค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่าง กรีนพีซ (Greenpeace) เคยเผยแพร่รายงานในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ใน 14 เมืองของประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2560 มีค่าเฉลี่ย 6 เดือน คือ 13 - 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินจากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้ คือ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
งานวิจัยพบว่าอนุภาคฝุ่นสามารถทำลายเซลล์ผิวหนังได้เพราะก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน
สำหรับผลกระทบที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีต่อผิวพรรณของมนุษย์นั้น ผศ.นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ กรรมการสมาคมแพทย์ความงาม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ กล่าวคือ ผลลัพธ์ทันทีจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
(atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสองโรคนี้พบเห็นได้บ่อยครั้ง
(atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสองโรคนี้พบเห็นได้บ่อยครั้ง
"ผลระยะยาว อนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านเข้าผิวหนังแล้วทำลายเซลล์ผิว" ผศ.นพ.ชูชัย กล่าวพร้อมเตือนว่าผิวหนังของเราเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายจึงต้องเจอฝุ่นเยอะที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่เสริมความงามด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือศัลยกรรม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรอยที่ผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และหากแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ
นอกจากนี้ ผศ.นพ.ชูชัย ยังเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงงานวิจัยจากต่างประเทศที่ศึกษาถึงผลกระทบของฝุ่นละอองต่อผิวพรรณว่า จีนที่ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกับไทย ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 800 คน แล้วพบว่า ริ้วรอย สีผิวที่เปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่งความหย่อนยานของผิว ล้วนสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ทั้งสิ้น
"งานวิจัยของเกาหลีเองก็พบว่า อนุภาคฝุ่นสามารถทำลายเซลล์ผิวหนังได้เพราะก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ซึ่งทำให้เซลล์เสียหาย" ผศ.นพ.ชูชัย บอกกับบีบีซีไทย
งานวิจัยว่าอย่างไร
หน่วยงานทั้งทหารและพลเรือนของกรุงเทพฯ พ่นน้ำในบริเวณต่าง ๆ เพื่อลดฝุ่นละออง
งานวิจัยเมื่อปี 2010 เรื่อง ผลกระทบของฝุ่นละอองในอากาศที่มีต่อการเสื่อมสภาพของผิว โดยแอนเดรีย เวียร์คอตเตอร์ และคณะนักวิจัยจากประเทศเยอรมนี พบว่า การเผชิญมลพิษทางอากาศสัมพันธ์กับการเสื่อมสภาพของผิวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจุดด่างดำและริ้วรอยเหี่ยวย่น
"จุดด่างดำบริเวณหน้าผากจะเพิ่มขึ้น 22% และ 20% บริเวณแก้ม เมื่อพบเจอกับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นหนึ่งพิสัยควอไทล์ (IQR) ส่วนอนุภาคจากการจราจรที่เพิ่มขึ้นหนึ่งพิสัยควอไทล์นั้นจะทำให้จุดด่างดำบริเวณหน้าผากสูงขึ้น 16% และบริเวณแก้มสูงขึ้น 17%"ส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟูตัน ประเทศจีนเรื่อง ผลกระทบของ PM 2.5 ต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ (HaCaT) กล่าวว่า อายุขัยของเซลล์จะลดลงเมื่อค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ ชั้นผิวหนังเสื่อมถอย หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แนวทางป้องกัน
สำหรับวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองนั้น ผศ.นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ ได้แนะนำไว้ว่า นอกจากการติดตามข่าวสารและสวมหน้ากากอนามัยแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางออกไปข้างนอกอาคารโดยไม่จำเป็น และอย่าเพิ่งออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ที่ทำศัลยกรรมความงาม เช่น ฉีดโบท็อกซ์ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
"ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ควรสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว" ผศ.นพ.ชูชัย กล่าว "เมื่อถึงบ้าน ให้ล้างมือก่อนทานอาหารด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สำหรับผิวหน้า ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยนทำความสะอาดโดยไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ฆ่าเชื้อ เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายดายกว่า
ผศ.นพ.ชูชัย ให้ความเห็นว่า "ต้องระวังแต่อย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ" เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วไทยยังอยู่ในระดับกลาง และไม่ได้มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองตลอดเวลา พร้อมเสนอว่า ต้องรณรงค์ให้ลดการใช้รถยนต์มากเกินไป