Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

'วลาดิเมียร์ พลาวิก' วีรบุรุษเชอร์โนบิล! ผู้สละชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้คนนับล้านจากโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มรณะ

'วลาดิเมียร์ พลาวิก' วีรบุรุษเชอร์โนบิล! ผู้สละชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้คนนับล้านจากโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มรณะ

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไปสำหรับผู้หมวดพลาวิกและตำรวจดับเพลิงอีกหลายนายที่เสียชีวิต แต่อย่างน้อยการเสียสละของเหล่าผู้กล้าก็ทำให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงและหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

หลายคนอาจยังคงจดจำโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 จนทำให้ทางการโซเวียตต้องระดมกำลังพลจากกองทัพและพลเรือนในการอพยพผู้คนนับแสนคนจากพื้นที่เสี่ยงภัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ยังมีกลุ่มคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษผู้เสียสละ และถ้าหากขาดคนกลุ่มนี้ไป บางทีหายนะจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าระเบิดที่เชอร์โนบิลอาจรุนแรงกว่าที่เป็น และพวกเขาก็คือกลุ่มตำรวจดับเพลิง ที่เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าไปในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้

และหนึ่งในวีรบุรุษผู้กล้าหาญและเสียสละตนเองเพื่อผู้คนอีกจำนวนหลายล้านคนทั้งในโซเวียตและทั่วโลก เห็นจะไม่พ้น วลาดิเมียร์ พลาวิก ผู้หมวดหนุ่มวัย 24 ปี แห่งสถานีดับเพลิงเชอร์โนบิล ที่มาเข้าเวรตามปกติที่สถานี เขาใช้เวลาไปกับการทบทวนวิธีการดับเพลิงทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎีเพื่อเตรียมความพร้อม และใช้เวลาในยามว่างด้วยการดูวอลเลย์บอลและดูโทรทัศน์ ก่อนนอนพักที่สถานี

ในช่วงตีหนึ่งครึ่งของวันเสาร์ที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 ผู้หมวยดพลาวิกตื่นขึ้นหลังได้ยินเสียงเตือน เมื่อทราบว่าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมจึงรีบมุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุเพื่อทำหน้าที่ของตน แน่นอนว่าผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมรู้ดีว่าเตาปฏิกรณ์หมายเลขสี่ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดระเบิด และภารกิจของเขาก็คือการควบคุมเพลิงภายใต้กัมมันตรังสีที่รั่วไหล เมื่อสถานการณ์เริ่มบานปลาย ผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมเริ่มแสดงอาการจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสีโดยตรง เขาจึงเรียกกำลังเสริมจากเมืองพริฟยาตและเมืองเคียฟที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือ

ผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมไม่สามารถปฏิบัติงานได้อีกต่อไป เนื่องจากพวกเขาสัมผัสกับกัมมันตรังสีโดยตรง พวกเขาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด ทีมแพทย์ของโซเวียตได้นำตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจมาส่องกล้องจุลทรรศน์ ก็พบว่าเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงภายในเซลล์ของเขาและลูกทีม ที่เกิดจากการปนเปื้อนกัมมันตรังสี และทีมแพทย์ก็ได้ข้อสรุปว่า ไม่มีทางใดที่จะรักษาชีวิตผู้หมวดพลาวิกได้เลย

ผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมได้รับการฉีดมอร์ฟีนและตัวยาชนิดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ทีมของพวกเขาทั้งหมดจะต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อฟื้นฟูการสร้างเม็ดเลือดใหม่ เพื่อหวังว่าจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของผู้หมวดพลาวิกและลูกทีมได้บ้าง แต่มันก็สูญเปล่า

ผู้หมวดพลาวิกต้องทนทุกข์กับอาการแทรกซ้อนมากมายที่เกิดจากการสัมผัสถูกกัมมันตรังสีโดยตรง นัยน์ตาสีน้ำตาลของเขากลายเป็นสีฟ้า ระบบทางเดินอาหารล้มเหลว ปอดบวม เส้นผมหลุดร่วง ผิวหนังหลุดลอกเป็นชิ้น ๆ หลังจากนั้นลิ้นของเขาก็บวมและต่อมน้ำลายก็หยุดการทำงานจนทำให้เขาไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป

ทีมแพทย์ได้กักตัวผู้หมวดพลาวิกไว้บนเตียงเย็นโดยมีกรอบโลหะปิดกั้นเอาไว้ ผิวหนังของเขาถูกเผาไหม้คล้ายเกิดจากไฟ ผู้หมวดพลาวิกเสียชีวิตในอีก 15 วันให้หลัง โดยศพของเขาถูกผนึกเอาไว้ในโลงศพสังกะสีอย่างดี และถูกนำไปฝังที่สุสานในกรุงมอสโกและเทคอนกรีตป้องกันเป็นอย่างดี

ภายหลังทางการโซเวียตได้ทำการยกย่องผู้หมวดพลาวิกและสมาชิกตำรวจดับเพลิงอีกหลายนายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ พร้อมกับมอบเหรียญกล้าหาญเชิดชูเกียรติในความเสียสละอย่างสูงของพวกเขา เพื่อชาวโซเวียตและมวลมนุษยชาติอีกหลายล้านคนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไปสำหรับผู้หมวดพลาวิกและตำรวจดับเพลิงอีกหลายนายที่เสียชีวิต แต่อย่างน้อยการเสียสละของเหล่าผู้กล้าก็ทำให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงและหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

รายการบล็อกของฉัน