นี่คือนกที่บินรวดเดียว 11 วัน 12,000 กิโลเมตร โดย ‘ไม่กินไม่หยุดพัก’
นกตัวนี้อยู่บนอากาศเป็นเวลา 11 วัน โดยไม่ลงพื้นเลยแม้แต่วินาทีเดียว และมันสามารถบินเป็นระยะทาง 7,500 ไมล์ มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่จะมีสิ่งมีชีวิตทำเรื่องพวกนี้ได้ และนี่คือเรื่องของมัน
นกปากแอ่นหางลาย (Bar-tailed Godwit) เป็นนกที่มีเที่ยวบินยาวนานที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก และมันยังสามารถเดินทางไกลกว่าสัตว์ทุกตัวบนโลก โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารเลย ซึ่งสถิติล่าสุดที่ถูกบันทึกคือ มันสามารถอยู่บนฟ้า 11 วัน ในสภาพสุดขั้วของอลาสก้า – นิวซีแลนด์ และยังบินเป็นระยะทาง 7,500 ไมล์ (12,000 กิโลเมตร) โดยไม่ลงพื้นเลย
สถิติเกิดจากการติดตามนกที่ชื่อ 4BBRW
นี่เป็นสถิติที่ได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ติดตามนกตัวผู้ที่รู้จักกันในชื่อ “4BBRW” มันได้รับการติดตั้งวงแหวนสีน้ำเงิน แดง และขาวที่ขาของมัน และอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมน้ำหนัก 5 กรัม ไว้ที่ส่วนล่างของมัน นอกจากมันแล้ว ยังมีนกอีก 19 ตัวที่ได้รับการติดตาม
นกปากแอ่นหางลาย เป็นนกที่มีน้ำหนักระหว่าง 190 – 400 กรัม ปกติมันจะเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเองเป็น 2 เท่าก่อนที่จะเดินทางไกล และมันยังสามารถลดขนาดอวัยวะภายในเพื่อแบ่งเบาภาระได้
จากการติดตามนกได้เริ่มเดินทางออกจากอลาสก้า มันและพวกมุ่งหน้าลงใต้ไปเหนือหมู่เกาะอะลูเชียน (Aleutian Islands) และไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ดูเหมือนพวกมันจะต้องเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย คาดว่าเป็นเพราะลมตะวันออกที่แรง จนทำให้ทั้งกลุ่มต้องมุ่งหน้าไปยังออสเตรเลีย ..ด้วยเหตุนี้การเดินทางจึงยาวนานเป็นพิเศษ
แม้มันจะต้องเปลี่ยนเส้นทาง มันก็ยังบินมาถึงจุดหมายได้อยู่ดี ดร.เจสซี คอนคลิน จาก Global Flyway Network กล่าวว่า “ดูเหมือนพวกมันจะมีความสามารถในการรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนในโลก ดูเหมือนมันจะมีระบบนำทางและแผนที่ประสิทธิภาพสูงอยู่ในตัว”
นกตัวนี้บินไม่หยุดเป็นระยะทางกว่า 7,500 ไมล์จากอลาสก้า – นิวซีแลนด์
ดาวเทียมได้บันทึกการบินแบบจุดต่อจุด มันเป็นระยะทาง 12,854 กิโลเมตร แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อพิจารณาข้อผิดพลาดในการปัดเศษแล้ว การเดินทางจะอยู่ที่ประมาณ 12,200 กม. คาดว่าใช้เวลาบินทั้งหมด 224 ชั่วโมง “เที่ยวบินแบบไม่แวะพักที่ยาวนานที่สุดครั้งก่อนหน้าของนกที่บันทึกได้คือ 11,680 กม. ถูกบันทึกในปี 2550”
ความรู้เพิ่มเติมนกปากแอ่นหางดำ (พบในไทย)
นกปากแอ่นหางดำ (Black-tailed Godwit) นกขนาดเล็กถึงกลาง (36-38 ซม.) เป็นนกที่สามารถพบได้ในประเทศไทยบางช่วง เพราะพวกมันเป็นนกอพยพระยะไกลเช่นเดียวกันกับนกปากแอ่นหางลาย เพียงแต่มีเส้นทางจะสั้นกว่า
นกปากแอ่นหางดำ มีปากที่ยาวมากและแอ่นเล็กน้อยเกือบตรง ปากดำโดยบริเวณโคนเป็นสีชมพู มีลายแถบกว้างสีขาวที่ปีก หางสีขาวมีแถบสีดำที่ปลายหาง ด้านบนลำตัวสีเทา บริเวณคอและอกจะมีสีเทาจางกว่า ด้านล่างลำตัวสีขาว
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์สีสันทั่วๆ ไป จะเข้มเป็นสีน้ำตาลแดง ท้องและขนหางด้านล่างมีลายแต้มสีน้ำตาลแดง พบตามชายเลนและชายฝั่งทะเลบางครั้งก็พบได้ตามแหล่งน้ำจืด หากินด้วยการเดินลุยไปตามโคลนโดยใช้ปากที่ยาวชอนไชไปด้วย หากินทั้งกลางวันและกลางคืน (ในไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง)
อยู่บนอากาศเป็นเวลา 11 วันติดต่อกัน Black-tailed Godwit บินจากอลาสก้าไปนิวซีแลนด์
เจ้านกหางยาวBlack-tailed Godwit (Limosa lapponica) เพิ่งบินตรงจากอลาสก้าไปยังนิวซีแลนด์เป็นเวลา 11 วัน โดยเดินทางเป็นระยะทาง 7,500 ไมล์ (12,000 กิโลเมตร) โดยไม่หยุด ทำลายเที่ยวบินที่ยาวที่สุดแบบไม่แวะพักในบรรดานกที่นักวิทยาศาสตร์รู้จัก กันดี