ภาพจำลองขั้นตอนการทำมัมมี่แบบตากแห้ง ซึ่งพบร่องรอยที่เป็นหลักฐานในโครงกระดูกของคนยุโรปยุคหินกลาง
ทีมนักโบราณคดีจากโปรตุเกสและสวีเดน เผยว่าได้ค้นพบหลักฐานการทำมัมมี่ของคนยุคหินกลาง (Mesolithic) เมื่อราว 8,000 ปีก่อน โดยร่องรอยดังกล่าวอยู่ในภาพถ่ายโครงกระดูก ซึ่งพบในสุสานโบราณของหุบเขาซาดู (Sado) ทางตอนใต้ของโปรตุเกส
การค้นพบในครั้งนี้ไม่มีร่างที่อยู่ในสภาพของมัมมี่หลงเหลืออยู่ แต่การวิเคราะห์ภาพถ่ายโครงกระดูกที่นักสำรวจผู้หนึ่งบันทึกไว้เมื่อ 60 ปีก่อน ทำให้ทราบได้ว่าศพเหล่านั้นเคยผ่านกระบวนการทำมัมมี่ให้ร่างแห้งและเล็กลงก่อนทำพิธีฝัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ยิ่งกว่าการทำมัมมี่ของอียิปต์หรือของชนเผ่าโบราณในทะเลทรายอาตากามาของชิลีหลายพันปี
การศึกษาข้างต้นตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Archaeology โดยดร. ริตา เปโรทีโอ-ชาร์นา ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุปป์ซอลา (Uppsala University) ของสวีเดนบอกว่า ระหว่างที่นำม้วนฟิล์มเก่าของนักโบราณคดีชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งมาล้างและอัดขยายภาพ เธอพบว่าโครงกระดูกที่เป็นศพของคนโบราณมีลักษณะผิดปกติ
โดยแขนและขาถูกจัดให้อยู่ในมุมงอที่ไม่อาจเป็นไปได้ตามธรรมชาติ แสดงถึงการถูกมัดร่างจนแน่น ก่อนนำมาฝังจนเหลือแต่กระดูกที่ผิดรูปดังกล่าว
นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังพบว่า กระดูกท่อนต่าง ๆ ของศพยังคงติดกันอยู่เป็นอย่างดี แม้แต่กระดูกชิ้นเล็กเช่นนิ้วเท้าก็ไม่หลุดร่วงไปตามที่ควรจะเป็น ดินที่อยู่โดยรอบหลุมศพก็ไม่มีร่องรอยของการไถลเข้ามาแทนที่ว่าง ซึ่งควรจะเกิดขึ้นเมื่อศพในหลุมเน่าเปื่อยและหดตัวเล็กลง แสดงว่าศพที่ฝังอยู่นั้นถูกทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อยมาก่อนแล้ว
โครงกระดูกอายุ 8,000 ปี มีร่องรอยของการจัดท่าและถูกมัดอย่างแน่นหนาเพื่อทำมัมมี่
เมื่อนำหลักฐานจากภาพถ่ายโครงกระดูกไปเปรียบเทียบกับสภาพการเสื่อมสลายของศพจริง ซึ่งได้ทดลองจัดทำขึ้นที่ศูนย์วิจัยทางนิติมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัสสเตตของสหรัฐฯ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่คนยุคหินกลางในยุโรปจะทำศพให้เป็นมัมมี่ด้วยวิธีตากแห้งและมัดให้แน่นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ศพหดตัวเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งจะง่ายต่อการขนย้ายไปฝังที่สุสานภายในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป
การทำมัมมี่ในขั้นแรกจะจัดให้ศพอยู่ในท่านั่งชันเข่าบนแท่นยกสูง โดยมีไม้ค้ำยันศพไว้ที่ด้านหลัง เพื่อปล่อยให้น้ำหนองและของเหลวจากการย่อยสลายไหลออกไปจนศพแห้ง ในระหว่างนั้นจะมีการใช้แถบผ้าหรือเชือกมัดศพให้แน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในสภาพที่พบจากรูปถ่ายโครงกระดูกในที่สุด
บริเวณที่เป็นสุสานโบราณของคนยุคหินกลาง ในหุบเขาซาดูของโปรตุเกส
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้นของภูมิภาคยุโรปใต้ ทำให้มัมมี่ยุคหินกลางไม่อาจรักษาเนื้อเยื่ออ่อนที่แห้งติดกระดูกในตอนแรกเอาไว้ได้ ปัจจุบันจึงคงเหลือเพียงแต่โครงกระดูกที่อยู่ในสภาพผิดธรรมชาติพอให้สังเกตได้เท่านั้น
ดร.ไมเคิล พาร์กเกอร์ เพียร์สัน นักโบราณคดีจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน หรือยูซีแอล (UCL) ซึ่งไม่ได้ร่วมทำการวิจัยในครั้งนี้แสดงความเห็นว่า ร่องรอยการทำมัมมี่ซึ่งเก่าแก่เกือบหมื่นปีในภูมิภาคยุโรปนั้น ถือเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่ออย่างยิ่ง แต่เขาคาดว่าอีกไม่นานอาจมีการศึกษาร่องรอยการทำมัมมี่ที่เก่าแก่ยิ่งกว่านี้มากในอิสราเอลและเบลารุส ซึ่งพบหลักฐานที่ส่อเค้าว่าอาจเคยมีการทำมัมมี่ตั้งแต่ 10,000-30,000 ปีที่แล้ว
MÚMIA MAIS ANTIGA DO MUNDO ENCONTRADA EM PORTUGAL!!
World's oldest mummy found in Portugal
Previously undeveloped photos reveal 8,000-year-old signs of mummification — the earliest evidence found anywhere in the world.
Archaeologists think a human cadaver became mummified after it was bound and desiccated over several weeks to make it easier to transport.