Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ฟอสซิลของดิกคินโซเนีย สิ่งมีชีวิต 558 ล้านปี คือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำพวกแรกของโลก และเป็นสัตว์ชนิดเก่าแก่ที่สุด


ฟอสซิลของดิกคินโซเนีย สิ่งมีชีวิต 558 ล้านปี  คือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำพวกแรกของโลก และเป็นสัตว์ชนิดเก่าแก่ที่สุด

ฟอสซิลของดิกคินโซเนียสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำพวกแรกของโลก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง


นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ค้นพบร่องรอยของโมเลกุลคอเลสเตอรอล ในซากฟอสซิลสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีอายุถึง 558 ล้านปี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวเป็นสัตว์ ไม่ใช่พืชหรือเชื้อรา ทั้งยังเป็นสัตว์ชนิดเก่าแก่ที่สุดของโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมาอีกด้วย

สิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีชื่อว่า "ดิกคินโซเนีย" (Dickinsonia) เป็นสัตว์ทะเลซึ่งมีลักษณะคล้ายแมงกะพรุนที่ถูกผ่าลำตัวบางส่วนออก เดิมถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตโบราณยุคอีดีแอคารัน (Ediacaran) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำพวกแรกที่ปรากฏตัวขึ้นบนโลกเมื่อราว 635-541 ล้านปีก่อน

ก่อนหน้านี้นักบรรพชีวินวิทยาไม่สามารถจำแนกชี้ชัดได้ว่า ดิกคินโซเนียและสิ่งมีชีวิตยุคอีดีแอคารันเป็นพืช สัตว์ หรือเชื้อรากันแน่ เนื่องจากไม่พบร่องรอยของสารอินทรีย์ในซากฟอสซิลที่แสดงว่าเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น ๆ มาก่อน จนกระทั่งได้มาพบโมเลกุลของคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นไขมันที่มีในสัตว์ ในฟอสซิลดิกคินโซเนียหลายชิ้นที่ได้มาจากชายฝั่งทะเลขาว (White Sea) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย


มีการตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวลงในวารสาร Science โดยนายอิลยา โบบรอฟสกี นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า "ฟอสซิลเหล่านี้มาจากภูมิภาคที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทีมสำรวจต้องเดินทางไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ และต้องปีนหน้าผาสูงเพื่อเจาะเอาฟอสซิลเหล่านี้ออกมาจากหินทรายที่ส่วนกลางของหน้าผา"

"เดิมทีการศึกษาสิ่งมีชีวิตยุคอีดีแอคารัน จะใช้ฟอสซิลที่พบบริเวณเนินเขาอีดีแอคาราในออสเตรเลียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฟอสซิลกลุ่มนั้นแทบจะไม่มีร่องรอยของสารอินทรีย์หลงเหลืออยู่ เพราะได้ผ่านความร้อน แรงกดดันใต้พื้นพิภพ และถูกชะล้างด้วยสภาพภูมิอากาศมานานหลายล้านปี ต่างจากฟอสซิลในยุคเดียวกันจากรัสเซียซึ่งยังคงมีโมเลกุลของคอเลสเตอรอลหลงเหลืออยู่สูงถึง 93% เลยทีเดียว" นายโบบรอฟสกีกล่าว


การค้นพบครั้งนี้เท่ากับไขปริศนาด้านบรรพชีวินวิทยาที่ติดค้างอยู่มานานถึง 75 ปีให้กระจ่าง โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปได้ว่า สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำนวนมากเมื่อ 558 ล้านปีก่อนนั้น มักเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และพบได้ทั่วไปในท้องทะเล แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตยุคอีดีแอคารันได้สูญพันธุ์ไปเป็นส่วนใหญ่ เมื่อย่างเข้าสู่ยุคแคมเบรียนที่มีสัตว์หลากหลายชนิดพันธุ์เกิดขึ้น

👉เวลาเราอ่านเกี่ยวกับหรือดูภาพยนตร์ยุคไดโนเสาร์ยุคดึกดำบรรพ์มันทำให้เรามีจินตนาการกว้างไกลและ มีข้อพิสูจน์บ่งชี้ต่างๆนานาจากฟอสซิลที่
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมันยิ่งทำให้หลายๆคนมีความคิดจินตนาการ

ไปว่ายุคดึกดำบรรพ์ยุคไดโนเสาร์มันคงจะมีอะไรๆที่มีธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้นมากๆแล้วมีอะไรที่แปลกๆให้ดูเยอะแยะเสียดายที่เราไม่สามารถย้อนไปในอดีตได้

รายการบล็อกของฉัน