Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ปริศนาม้วนทองแดงแห่งเดดซี


ปริศนาม้วนทองแดงแห่งเดดซี
เรื่องราวต่าง ๆ บนโลกหลายเรื่องถูกย่อและย่อยลงอย่างเป็นระเบียบในพื้นที่เหล่านี้ รอเวลาให้เรามารับรู้ อยู่ที่นักเดินทางจะสนใจหรือไม่
ทุกครั้งก่อนเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าจะนอกหรือในประเทศ สิ่งหนึ่งที่ควรจะเตรียมตัวคือ ทำการบ้านว่าที่นั่นมีอะไรดี สิ่งล้ำค่าประเภทห้ามพลาดเด็ดขาด

ไม่นานมานี้มีโอกาสแวะกรุงอัมมาน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจอร์แดน (The Jordan Museum) คือเป้าหมายอันดับต้น ๆ ในการเยี่ยมชมเมืองหลวงสมบัติล้ำค่าได้แก่บันทึกเก่าแก่อันหนึ่งของโลก คือม้วนทองแดงแห่งเดดซี (Dead Sea Scrolls) 

ซึ่งเพิ่งย้ายมาจัดแสดงที่นี่ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๓หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวอันโด่งดังของม้วนหนังสือนี้

ย้อนกลับไปช่วง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๕๖ ในเมืองกุมราน (Qumran) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบเดดซี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิสราเอล) เป็นพื้นที่ต่ำ อยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐ เมตร 
มีการค้นพบหนังสือม้วนในถ้ำ 
๑๑ แห่ง มีเอกสาร ๘๐๐ รายการ ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์เกี่ยวกับศาสนายิวที่ไม่เคยพบมาก่อน คาดว่าเขียนขึ้นราว ๑๕๐ ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. ๗๐ โดยพวกเอสซีน (Essene) บรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ร่วมสมัยกับพระเยซู

การค้นพบนั้นเป็นเหตุบังเอิญ กล่าวคือ ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ มุฮัมมัด อาดิบ (Mohammed Adib) เด็กเลี้ยงแกะชาวเบดูอินชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย พยายามเดินตามหาแกะที่พลัดหลงในเทือกเขากลางทะเลทราย กระทั่งพบถ้ำแห่งหนึ่งที่คิดว่าแกะอยู่ข้างใน เขาขว้างก้อนหินเพื่อเป็นการเบิกทาง ปรากฏว่าได้ยินเสียงไหแตก 

จึงคิดว่าเจอขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ตามถ้ำบนภูเขา วันรุ่งขึ้นตามเพื่อนมาสำรวจ พวกเขาพบไหดินเผาแปดใบ พอเปิดไหดู ไม่ใช่เพชรพลอยหรือกรุสมบัติ มีเพียงผ้าลินินพันม้วนหนังสัตว์เก่า ๆ เจ็ดม้วน จึงขนกลับมาขายราคาถูก ๆ ให้พ่อค้าของเก่าในตลาดเมืองเบทลิเฮม

พ่อค้าขายของเก่าคลี่ออกดูเห็นอักษรจารึกบนหนังสัตว์ความยาว ๘ เมตร ด้วยความสงสัยจึงเดินทางไปกรุงเยรูซาเลมซึ่งอยู่ไม่ไกล ให้นักบวชผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณ นาม อัททานาซีอุส ซามูเอล (Athanasius Yeshue Samuel) วิเคราะห์ และพบว่าเป็นฮีบรูโบราณ ภาษาเก่าแก่ของชาวยิว
ซามูเอลทราบดีว่า สิ่งที่เห็นต่อหน้าไม่ธรรมดาเลย 

จึงเดินทางไปเมืองกุมราน และค้นพบม้วนหนังสือในถ้ำต่าง ๆ อีกสี่ม้วน เมื่อส่งไปวัดอายุที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ พบว่าหนังสัตว์มีอายุเก่าแก่ระหว่าง ๑,๘๐๐-๒,๐๐๐ ปี

ม้วนหนังสือแห่งเดดซีจึงเป็นข่าวใหญ่โต ด้วยเป็นการค้นพบจารึกตัวเขียนหนังสือที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ และม้วนหนังสือนี้เป็นจารึกตัวเขียนพระคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา

หลังจากนั้นบรรดานักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ ต่างระดมคนไปขุดหาตามถ้ำต่าง ๆ จนพบม้วนหนังสัตว์ถึง ๘๐๐ ม้วนจากถ้ำ ๑๑ แห่ง มีทั้งหนังสัตว์และกระดาษปาปิรุส ส่วนใหญ่เป็นบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ นอกนั้นเป็นเรื่องกฎหมาย ประเพณี ตำราสงคราม พิธีกรรม บทสวดต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเขียนโดยหมึกที่มีคาร์บอนเป็นส่วนผสมหลัก

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ม้วนหนังสือเหล่านี้อาจถูกนำมาจากห้องสมุดของชาวยิวในกรุงเยรูซาเลมหลังจากกองทัพโรมันยึดครองอาณาจักรยิวอย่างเบ็ดเสร็จช่วง ค.ศ. ๖๐ บรรดานักบวชจึงแอบเอาม้วนหนังสือแห่งเดดซีไปซ่อนไว้ตามถ้ำในเทือกเขาแห่งกุมราน

แต่ในบรรดาม้วนหนังสือทั้งหมดนั้น ที่ฮือฮาที่สุดคือม้วนหนังสือที่ไม่ได้ทำจากหนังสัตว์ ในถ้ำหมายเลข ๓ แต่ทำด้วยแผ่นทองแดง และไม่ได้ค้นพบโดยเด็กเลี้ยงแกะ แต่นักโบราณคดีเป็นผู้ค้นพบภายหลัง

ผู้เขียนเดินเข้าห้องพิเศษห้องหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ภายในห้องเปิดไฟสลัวเพื่อรักษาของล้ำค่าที่จัดแสดง เบื้องหน้าคือแผ่นโลหะทองแดงที่มีตัวอักษรฮีบรูโบราณรอยสลักตัวอักษรบนแผ่นโลหะอายุร่วม ๒,๐๐๐ ปี ได้เผยนัยสำคัญแก่ชนรุ่นหลัง

เล่ากันว่า ตอนที่มีการค้นพบ ม้วนทองแดงอยู่ในสภาพสนิมเกาะเต็ม นักโบราณคดีจึงตัดสินใจผ่าม้วนนั้นออก ได้แผ่นทองแดง ๒๓ แผ่น ภายในมีจารึกตัวอักษรฮีบรูโบราณที่ใช้ค้อนตอกเป็นตัวหนังสือ มีอายุประมาณ ค.ศ. ๗๐

นักนิรุกติศาสตร์ใช้เวลานานกว่าจะอ่านเนื้อหาที่ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับพระคัมภีร์ได้ แต่ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่ามันคือลายแทงขุมทรัพย์มหาสมบัติอันล้ำค่าที่ถูกเก็บซ่อนไว้ให้พ้นเงื้อมมือศัตรู
เนื้อหาบันทึกถึงสถานที่ซ่อนสมบัติ ทองคำ เงิน เครื่องหอม ที่กระจัดกระจายอยู่ในดินแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งถูกลักลอบนำออกจากมหาวิหารเยรูซาเลมมาซ่อนไว้เพื่อความปลอดภัย

ในอดีตกาลวิหารหรือโบสถ์ชาวยิวคือสถานที่เก็บสมบัติล้ำค่า ไม่น่าแปลกใจเมื่อกองทัพโรมันยึดเมืองได้แล้ว โบสถ์วิหารจึงถูกทำลายอย่างราบคาบเพื่อขุดหาทรัพย์สมบัติ

จารึกบนแผ่นทองแดงยังเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ อาทิ ประโยคที่ว่า“หุบเขาแห่งอาคอร์ เข้าไปทางทิศตะวันออก จะพบหีบเงิน”
“ในหลุมเกลือทางทิศใต้มีก้อนเงิน
“ถ้ำของคนทำความสะอาด เก็บทองคำไว้ ๔๕ แท่ง”
“หลุมที่สามเก็บทองคำไว้ ๘๐๐ แท่ง เงิน ๒๐๐ แท่ง”
“หลุมศพอับโซโลมทางฝั่งตะวันตก ขุดลึกลงไปจะมีเหรียญเงิน ๘๐ เหรียญ
“บริเวณปากน้ำพุ ขุดลงไปจะพบทองคำ ๒ ทาเลนต์”
“บริเวณหุบเขาอาเชอร์มีกองเงินมหาศาล น้ำหนักมากถึง ๑๗ ทาเลนต์”

บันทึกเหล่านี้บรรยายถึงที่ซ่อนทองคำและเงินกระจายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถึง ๖๔ แห่ง และนับรวมน้ำหนักทองคำและเงินได้ประมาณ ๔,๖๓๐ ทาเลนต์ (talent คือหน่วยวัดน้ำหนักเงินและทองสมัยโบราณ เทียบเท่าน้ำหนัก ๑๒๐,๐๐๐ กิโลกรัม หรือ ๑๒๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันนับแสนล้านบาท)

ปัจจุบันยังไม่มีการขุดพบสมบัติล้ำค่าตามลายแทง นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าอาจมีบันทึกที่เฉลยปริศนาหรือให้รายละเอียดที่ซ่อนมหาสมบัติ แต่ยังค้นไม่พบ บางคนสันนิษฐานว่าทหารโรมันน่าจะขุดเอาทองคำไปตั้งแต่สมัยนั้น โดยจับนักบวชชาวยิวมาสอบสวนและทรมานจนยอมสารภาพตำแหน่งที่ซ่อน และลายแทงเหล่านี้น่าจะมีมากกว่าหนึ่งชุด

บางตำนานก็เชื่อว่า อัศวินเทมพลาร์ 
(กองทัพอัศวินชาวคริสต์ ลักษณะพิเศษคือเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวที่มีกางเขนสีแดงบนเสื้อ เป็นหนึ่งในหน่วยรบฝีมือดีที่สุดในสงครามครูเสด) ค้นพบทองคำจำนวนมากและนำกลับไปยุโรประหว่างเดินทางมาทำสงครามครูเสดกับพวกมุสลิม

อย่างไรก็ตามเนื้อหาตัวอักษรของม้วนหนังสือแห่งเดดซี ทั้งที่เป็นหนังสัตว์ กระดาษปาปิรุส หรือแผ่นทองแดง ต่างทยอยเปิดเผยข้อมูลออกมา แต่ไม่หมด ล่าสุด ค.ศ. ๑๙๙๑ เป็นเวลา ๔๐ กว่าปีนับจากการค้นพบหนังสือม้วนแรก “Biblical Archaeology Society” ได้ตีพิมพ์ม้วนหนังสือก่อนเงียบหายไป

ม้วนหนังสือแห่งเดดซีส่วนใหญ่อยู่ในการครอบครองของอิสราเอล แต่ดูเหมือนคนภายนอกจะค่อนข้างกังขาว่า ทางการอิสราเอลไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความลับภายในม้วนหนังสืออันเป็นความลับของศาสนายิวโดยตรง

ล่าสุด Israel Antiquities Authority ผู้ดูแลจารึกชุดนี้เปิดเผยว่ากำลังร่วมมือกับกูเกิลถ่ายภาพม้วนหนังสือทั้งหมดด้วยความละเอียดสูง และจะนำเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อว่าจะทำให้มีผู้รอบรู้จำนวนมากมาช่วยกันวิเคราะห์และร่นระยะเวลาการไขปริศนาบนแผ่นหนังและกระดาษปาปิรุสอายุร่วม ๒,๐๐๐ ปี และอาจเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการมีชีวิตอยู่จริงของพระเยซู
ส่วนการตามล่ามหาสมบัติจากลายแทงม้วนทองแดงนั้น สักวันหนึ่งขุมสมบัติล้ำค่าอาจเผยโฉมให้เห็นใครจะรู้ ขณะนี้อาจมี อินเดียน่า โจนส์ ตัวจริงตามล่าหาสมบัติอยู่อย่างเงียบ ๆ ก็ได้ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 376 มิถุนายน 2559

รายการบล็อกของฉัน